Sunday 24 November 2013

ลูกโดนเพื่อนแกล้ง

ลูกโดนเพื่อนแกล้ง มันคือ conflict management ฉบับอนุบาลใช่มั้ย

“อยากให้พี่จิบแนะนำทีค่ะ จะสอนลูกให้ป้องกันตัวจากการโดนเพื่อนรังแก แบบที่ไม่ใช่การเอาคืน อ่ะค่ะ
คือสอนลูกว่าเวลาเพื่อนรังแก โดนตีให้เอามือกันไว้ อย่าไปตีคืน ให้ไปบอกครู บอกผู้ใหญ่นะ วันนึงเห็นเพื่อนเอาข้อศอกพยายามมาศอกเค้า เค้าก็ดันออก เพื่อนก็เปลี่ยนวิธี เป็นบีบขา เค้าก็ปัดมือเพื่อนออก เลยไม่รู้ว่าเราสอนลูกผิดรึเปล่าคะ บางคนบอก ทำให้ลูกไม่สู้คน แต่ลูกก็ใช้วิธีที่เราสอนนะคะ และก็ไม่เคยกลับมาฟ้องว่าเพื่อนแกล้ง หรือมีเรื่องกับเพื่อน”

คำถามนี้มาจากน้องที่แม่จิบรู้จักอีกที
พี่ขอตอบทางนี้ เพื่อให้มีประโยชน์ต่อแม่ๆคนอื่นด้วย และเพื่อให้ได้ความเห็นจากแม่ๆที่มีประสบการณ์คล้ายๆกัน

ส่วนตัว แม่จิบไม่นิยมนโยบาย “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ในทุกรูปแบบ (ยกเว้นใครทำลูกชั้นเจ็บ แกตาย.. เอ๊ย ไม่ใช่ อิอิ) แต่เนื่องจากมีแต่ลูกชาย ประเด็นเรื่องการโดนเพื่อนแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นแกล้งแบบทำร้ายร่างกาย หรือโดน bully ไม่ให้เข้ากลุ่ม หรืออะไรก็ตาม บอกเลยว่าเราซีเรียสและห่วงมาก เพราะสังคมเด็กชายมันต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งกันที่อาจจะรุนแรง กว่าเด็กหญิงที่แค่สะบัดบ็อบใส่กัน ชิ! พูดง่ายๆ แม่จิบไม่อยากเห็นลูกต้องเข้าสู่วังวนของการชกต่อยกันในทุกรูปแบบ แต่จะมีวิธีไหนที่จะเตรียมพร้อมลูกชายเราให้เติบโตไปแบบเอาตัวรอดได้โดยไม่โดนเพื่อนหาว่าป๊อด นั่นแหละสำคัญ.. ดังนั้น จึงเข้าใจแม่ๆที่มีลูกชายทุกคนที่กลุ้มใจกับเรื่องนี้ และเชื่อว่าแม่ทุกคนคงจะมีวิธีสอนลูกที่ดีในแบบของตัวเอง

สำหรับตัวพี่ ตั้งแต่ลูกเข้าโรงเรียน (เริ่มมีสังคมนอกบ้านที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่น) พี่จะสอนลูกว่า

“ห้ามทำร้ายเพื่อน”

ไม่ว่าจะเป็นการทำคนอื่นก่อน หรือโดนเพื่อนทำร้ายก่อนก็ตาม ห้ามโต้ตอบด้วยการทำกลับ – เหตุผลที่พี่ให้กับลูกก็คือ ต่อให้แม่รู้ว่าลูกจะไม่มีวันรังแกคนอื่นก่อน แต่ถ้าเราโดนทำแล้วเราทำกลับ เกิดครูมาเห็นตอนเราเป็นคนไปตีเค้า ครูจะรู้มั้ยว่าเราป้องกันตัว? ครูอาจจะคิดว่าเราเป็นคนไปรังแกคนอื่นก็ได้ ดังนั้น วิธีป้องกันตัวที่ฉลาดกว่าการทำกลับ ก็คือ

1. บอกเพื่อนว่า “อย่าทำแบบนี้ เราไม่ชอบ” เวลาบอกให้บอกด้วยเสียงอันชัดถ้อยชัดคำ หนักแน่น อย่าทำหงอๆ พูดแผ่วๆ เพราะเพื่อนจะยิ่งได้ใจและทำอีก (ถ้าเค้าเกิดอยากแกล้งขึ้นมา) แต่อย่าหนีไปเฉยๆ เพราะเค้าอาจจะยิ่งตามแกล้ง และเราไม่เคยบอกว่าเราไม่ชอบ เค้าจะรู้มั้ยว่าเราไม่อยากให้ทำ ดังนั้น เค้าใช้กำลังกับเรา อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราอย่าใช้กำลังตอบโต้ แต่ให้ “พูดกันดีๆแบบคนโตๆว่า อย่าทำ เราไม่ชอบ!”
2. ถ้าบอกแล้วเพื่อนไม่ฟัง ให้บอกเพื่อนว่าถ้ายังไม่ฟัง เราจะบอกครู
3. ถ้าเค้าเลิกทำ ก็แปลว่าเค้าอาจไม่ตั้งใจ และยอมเลิกแล้วต่อกัน ถือว่าเราให้โอกาสแล้ว แต่ถ้าเค้ายังทำซ้ำๆ ให้ไปบอกครูว่าเกิดอะไรขึ้นเสมอ
ประเด็นคือ ถ้าเกิดกรณีพิพาทกับเพื่อน ห้ามใช้ระบบศาลเตี้ยตัดสิน ห้ามทำเพื่อน ห้ามใช้กำลังกับเพื่อน ห้ามเรียกคนอื่นมารุม ให้คนจัดการเป็นผู้ใหญ่ (เช่น ครูหรือครูพี่เลี้ยงเท่านั้น) หน้าที่เราคือ บอกความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงจะเป็นการรับมือกับการโดนทำร้ายร่างกายแบบแมนๆ ที่แม่จะปลื้มที่สุด! (ลูกชอบทำสิ่งที่ดีที่สุดในสายตาแม่ และชอบให้แม่ปลื้ม อิอิ)

ส่วนกรณีที่โดนเพื่อน bully หรือ โดนเพื่อนแกล้งแหย่ให้รำคาญ

อันนี้ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีบุคลิคแตกต่างกัน ลูกพี่สองคนโตก็ยังมีบุคลิคไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นคนโต ฮีผ่านช่วงเวลาของการ “เข้าแกงค์, แย่งเพื่อนสนิท, รับเข้าแกงค์, แย่งกันเป็นหัวหน้าแกงค์ และการช่วงชิงพาวเวอร์ของเด็กอนุบาล” มาตั้งแต่ชั้น อ.3 ถามว่าฮีเครียดมั้ย บอกเลยฮีเครียดมาก เพราะลูกพี่เป็นเด็กค่อนข้างขี้อายและไม่กล้าเผอิญหน้ากับ conflict
ฮีใช้เวลาพยายามรับมืออยู่ 1 ปีเต็มๆ กว่าฮีจะซึมซับตรรกะที่แม่สอนว่า
“ลูกจำคำแม่ไว้.. เพื่อนไม่ใช่แฟน ถึงจะต้องมีคนเดียว และคบทีละคน เพื่อนมีได้ทีละหลายๆคน ถ้าเพื่อนคนนี้มีคนอื่นมาแย่งสนิทด้วย เราก็สนิทกันทั้งสามคน แต่ถ้าเราไม่ชอบคนนั้น เราก็ไปสนิทกับเพื่อนคนอื่นได้”
ลูกแม่ไม่ต้องเก็บความช้ำใจมากินใบบัวบกที่บ้าน 555 อันนี้ ลูกจำขึ้นใจ (และหวังว่าฮีจะเก็บไปใช้ตอนโตได้ด้วยเวลาคบผู้หญิง ^^”)

ส่วนลูกคนรอง ฮีไม่สนเรื่องโดน bully และไม่มีใครทำให้ฮีรู้สึกว่าโดน bully ได้ เพราะฮีเชื่อคำสอนของแม่ว่า
“เวลาคบเพื่อน ก็คบเพื่อนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข อยู่กับเพื่อนที่เล่นด้วยแล้วสนุก ไม่ใช่คบเพราะหน้าตา ไม่ใช่คบเพราะฐานะ อย่าจำใจต้องเล่นกับเพื่อนที่ใครๆก็อยากเล่นด้วย หรือเพราะเพื่อนสนิทเราชอบเค้า เราเลยต้องชอบด้วย มันไม่จำเป็น เพราะการคบเพื่อนเป็นสิทธิ์ของเรา เลือกเพื่อนก็เหมือนเลือกแฟน ความรักมันห้ามกันไม่ได้ เพื่อนที่ถูกใจก็เหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างอยากเล่นด้วยกันก็เล่น แต่ถ้าเราไม่อยากเล่นกับเรา เราก็เล่นกับคนอื่น หรือถ้าเราไม่อยากเล่นกับเค้า ก็ไปเล่นกับคนอื่น อย่าไปฝืนทน มันไม่สนุกด้วยกันทั้งสองฝ่าย”
จบ! ฮีสุดแสนจะสบายใจ ไม่เคยมีปัญหาเรื่องเข้ากลุ่มเข้าแกงค์ ฮีไม่เคยยึดติดกับเพื่อนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ฮีสามารถเล่นได้กับเพื่อนทุกคน ย้ายวงเล่นได้ และมีความสุขเสียด้วย เวลาใครไม่ให้เล่นด้วย ฮีก็ไม่คิดมาก เคยถามเหมือนกันว่าเคยเจอเรื่องแบบนี้ที่โรงเรียนหรือเปล่า ฮีตอบชิลๆว่า “เค๊ย” พอถามว่าแล้วฮีทำไง ฮีบอก “ก็ไม่เห็นต้องทำไง ก็เปลี่ยนไปเล่นกับคนอื่นที่มันสนุก” โอเคนะ.. 555 ลูกดิชั้นเป็นตัวของตัวเองดี แม่ชอบ

คำที่เราสอนลูก ลูกบางคนใช้เวลานานกว่าจะซึมซับและเอามาปฏิบัติใช้เพื่อให้ตัวเองมีความสุข มีความสุขกับตัวเอง และมีความสุขกับการเข้าสังคม ส่วนเวลาที่เราเริ่มไม่แน่ใจว่า.. เราสอนลูกถูกไหม เราทำให้ลูกติ๋มไปหรือเปล่า ไม่สู้คนหรือเปล่า

เราน่าจะลองถามตัวเองก่อนว่า ถ้าเป็นตัวเรา เราจะจัดการกับสถานการณ์นั้นแบบไหน? เราอยากให้ลูกเราโตไปแบบแมนๆ หรือตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือเลี่ยงการเผชิญหน้า แล้วถ้าเราเลี่ยงการเผชิญหน้า เราสอนให้ลูกหนีปัญหาหรือรับรู้ว่ามีปัญหาแต่แค่รับมือกับมันโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง?

แต่ที่แน่ๆ ปัญหาของเด็ก เราต้องสอนให้เด็กรับมือกับปัญหา จะได้เป็นพื้นฐานของการจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ในอนาคต ไม่ใช่โตไปคอยถามชาวบ้านว่ารู้มั้ย ชั้นลูกใคร? หรือแม้แต่เข้าไปแทรกกลางโดยการไปมีปัญหากับเพื่อนลูกซะเอง ลูกจะเป็นเด็กไม่รู้จักโตค่ะ หรือหนักไปกว่านั้น ไปมีปัญหากับพ่อแม่ของเด็กคนนั้นด้วย อ่อ ที่สำคัญอย่าสอนไปลูกเลยนะคะว่า “ใครทำ มาบอกแม่ เดี๋ยวแม่ไปจัดการฟาดกบาลมันเอง” เอ่อ.. แบบนั้น ตัวใครตัวมันค่ะ อิอิ

Credit FB พี่ยอ
ที่มาข้อความ เพจ แม่จิบ

No comments:

Post a Comment