Wednesday 8 January 2014

ฝากเลี้ยงเนอสเซอรี่ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง

"มีความจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับเนิร์สเซอรี่ในช่วงกลางวัน จะเริ่มฝากได้ตั้งแต่กี่เดือน มีหลักเบื้องต้นในการเลือกเนิร์สเซอรี่และต้องเตรียมระวังเรื่องการเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง"

ในปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสถาบันพัฒนา สำหรับเด็กเล็ก วัยที่ยังไม่ได้เข้าเรียน หรือที่เรียกกันว่าเนิร์สเซอรี่เกิดขึ้นมากมาย คำถามที่เกิดขึ้นคือ มีความจำเป็นที่ลูกต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนหรือไม่ คำตอบคือ ลูกจำเป็นต้องได้รับการเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียนแน่นอนค่ะ แต่จะเตรียมโดยใครและทำอย่างไร ตรงนี้มีคำแนะนำค่ะ

ครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วย ใครเป็นผู้ดูแลลูก ไว้ใจได้หรือไม่ เพราะมีกรณีที่พี่เลี้ยงอยู่กับเด็กตามลำพัง แล้วทำร้ายเด็กหรือเกิดอุบัติเหตุทำเด็กหล่นแล้วไม่ยอมบอกพ่อแม่ และผู้ดูแลมีความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กวัยนี้เป็นอย่างดีหรือไม่ มีการกระตุ้นพัฒนาการหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สมวัยหรือไม่ ถ้ามีผู้ดูแลที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว และลูกก็ดูมีความสุขดี ให้ลูกอยู่บ้านดีที่สุด รอเข้าเรียนตอนอนุบาลทีเดียวเลย ที่อายุประมาณ 3 ขวบ เพราะโอกาสติดเชื้อโรคจะน้อยกว่าหรือถึงติดเชื้ออาการก็มักรุนแรงน้อยกว่าเด็กเล็กมากๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องวิชาการจะสู้เพื่อนไม่ได้ เพราะถึงเข้าเรียนช้ากว่า แต่ถ้าวัยพร้อม เดี๋ยวเดียวก็เรียนทันกันค่ะ

นโยบายการดูแลลูกของผู้ดูแลไม่ตรงกับใจของพ่อแม่ เช่น ผู้ดูแลอาจตามใจลูกมากเกินไปทำให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง ให้ลูกกินขนมหวานทั้งวัน ให้ลูกดูทีวีหรือเกมส์ ครั้นพ่อแม่จะขัดแย้งไม่ให้ทำ ก็อาจเกิดอาการงอนจากผู้ดูแล

ลูกอยู่ในวัยซน ปีนป่าย วิ่งเล่น ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้หากไม่มีใครคอยประกบวิ่งตาม แต่ผู้ดูแลอาจมีอายุมาก เดินตามไม่ไหว หรือถ้าไหวก็อาจเกิดปัญหาเหนื่อยมากเกินไปจนอาจเป็นอันตรายต่อหัวใจของผู้ดูแล

บางครั้งผู้ดูแลลูกที่บ้าน อาจติดธุระหรือเจ็บป่วยกระทันหัน ทำให้พ่อแม่ต้องลางานเพื่อดูแลลูกเอง แต่หากเป็นสถานเลี้ยงเด็ก การที่ผู้ดูแลหนึ่งคนป่วย หยุดงานไป ก็ไม่กระทบกับระบบงาน เพราะหาคนมาแทนได้เพียงพอ และทันท่วงที

บางครั้งเด็กเป็นลูกคนเดียว ไม่มีคนเล่นด้วย เด็กๆแถวบ้านก็ไม่มี ญาติพี่น้องก็ไม่มี มีแต่ผู้ใหญ่ ทำให้ขาดทักษะในการเล่นกับเด็กคนอื่น หรือบางคนแทบไม่เจอใครเลยในแต่ละวัน เจอแต่พ่อแม่ แม้แต่ญาติผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยเจอ จะทำให้เป็นเด็กกลัวคนแปลกหน้า เข้ากับคนอื่นได้ยาก กรณีนี้การพาลูกไปเข้ากลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน หรือสถานพัฒนาเด็กเล็ก ก็อาจช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับผู้อื่นได้ดีขึ้น หมอเคยเจอเด็กคนหนึ่ง คุณแม่บอกว่าอยู่บ้านแล้วชอบร้องไห้งอแง ไม่เอาใครเลย ต้องให้แม่อุ้มคนเดียว แม่ทนไม่ไหวจึงลองส่งไปเข้าเนอสเซอรี่ ปรากฎว่ากลายเป็นเด็กอารมณ์ดีขึ้นมาก เก่งขึ้นหลายอย่าง กินข้าวเองได้ เข้าห้องน้ำเองได้ วิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะอยู่บ้านคงเหงาและเบื่อ แต่พอไปเจอเด็กคนอื่นวัยเดียวกัน มีเพื่อนเล่นก็เลยมีความสุขขึ้น

อยู่บ้านแล้วสบายเกินไป มีคนทำให้ทุกอย่าง แทบไม่ต้องกระดิกตัวทำอะไรเองเลย ทำให้ขาดโอกาสพัฒนาความสามารถ บางคนจะเข้าเรียนแล้ว ยังกินข้าวเองไม่เป็น ยังใช้ห้องน้ำไม่เป็นเพราะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา ขาดระเบียบวินัย เช่น เล่นของแล้วไม่เก็บ รอคิวไม่เป็น บางคนพ่อแม่ฝึกเองเท่าไรก็ไม่สำเร็จ แต่พอส่งไปเรียนปุ๊บ ทำได้เลย เพราะเด็กบางคนอาจต้องอาศัยผู้อื่นในการช่วยฝึกฝนให้ เนื่องจากอาจเกรงใจครู กลัวครูไม่รัก คุณครูจะชมว่าเรียบร้อยน่ารักมากเวลาอยู่ต่อหน้าครู แต่พออยู่บ้านจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะรู้ว่ายังไงพ่อแม่ก็รักและตามใจอยู่แล้ว

เด็กบางคนมีปัญหากินข้าวยาก ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กที่เป็นลูกคนเดียว เวลากินก็ไม่มีคนอื่นร่วมกินเป็นเพื่อน ทำให้ไม่มีบรรยากาศการกิน และไม่ได้กินพร้อมพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ จึงขาดโอกาสเลียนแบบการกระทำ ใช้วิธีป้อนให้กินตลอด มักล่อหลอกให้กินโดยเปิดทีวีให้ดูไปด้วยกินไปด้วย แต่หมอก็จะคอยห้ามว่าอย่าให้ลูกดูทีวีเยอะ ก็เลยไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรให้ลูกกินเก่งขึ้น คำแนะนำคือให้ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ คือ พยายามลองให้กินเอง กินพร้อมหน้าพร้อมตา เปลี่ยนเมนูเป็นสไตล์ที่เด็กอยากกิน เช่น อาหารคล้ายของผู้ใหญ่ (ไม่ใช่ข้าวตุ๋นเละๆแบบเดิมๆ) สีสันและการตกแต่งดึงดูดตา (อาจต้องไปซื้อหนังสือเมนูลูกรักมาลองทำดู) ลองให้ลูกได้ช่วยเตรียมอาหาร ช่วยจัดโต๊ะกินข้าว จะได้รู้สึกมีส่วนร่วม ปิดทีวี แต่อาจทำบรรยากาศคล้ายปิคนิค ลูกสาวของหมอเอง เดิมเป็นเด็กที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องกินเท่าไร ไม่กระตือรือร้นเวลาเรียกให้กินหรือลองของใหม่ๆ หุ่นเธอก็เลยผอมบาง ต่อมาเมื่อลูกสาวได้ลองเรียนวิธีทำกับข้าว (cooking class) คือว่าแม่สอนเองไม่ได้ เพราะแม่ทำกับข้าวไม่เป็น ต้องให้ไปเรียนกับคุณครูแทน ก็พบว่าลูกเริ่มชอบที่จะลองกินของแปลกๆใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกิดจากฝีมือเค็มขึ้มือของเธอเอง เธอกินได้หมดเลย โดยไม่ต้องคะยั้นคะยอ แต่อย่างไรก็ดี เธอก็ยังมีหุ่นที่เป็นนางแบบอยู่นั่นเอง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่หมอกังวล แค่ต้องการให้ลูกสนุกกับการกินมากขึ้น และลูกรู้จักวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ รวมถึงประโยชน์ของอาหารแต่ละอย่างที่ได้กิน

เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการที่ช้ากว่าวัยเล็กน้อย เช่น อายุขวบครึ่งแล้วแต่ยังไม่เริ่มเดิน หรืออายุจะสองขวบแล้วแต่ยังไม่เริ่มพูดเลย อาจเป็นเพราะขาดโอกาสฝึกฝนหรือไม่มีคนคอยกระตุ้นพัฒนาการ เช่น อาจอุ้มเด็กมากเกินไป จนเท้าไม่ได้แตะพื้นเลย จึงทำให้เดินช้า ทั้งๆที่คุณหมอประเมินดูแล้วกล้ามเนื้อหรือระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกไม่ได้มีปัญหา ส่วนเด็กที่พูดช้านั้น อาจเป็นเพราะรู้ใจเด็กมากเกินไป รู้ความต้องการของเด็กจนเด็กแทบไม่ต้องเอ่ยปากเลย หรือเป็นเพราะไม่ค่อยได้พูดคุยกับเด็ก ให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงต่างด้าว หรือให้ดูทีวีมาก เหล่านี้จะทำให้เด็กพูดช้า ทั้งๆที่ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร (ไม่ได้เป็นเพราะหูไม่ได้ยิน โรคออทิสติก ปัญญาอ่อน) กรณีเหล่านี้อาจดีขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว หากมีการกระตุ้นพัฒนาการที่ถูกวิธีจากผู้มีความรู้ ความชำนาญ ซึ่งอาจพบได้จากสถาบันฝึกต่างๆทั้งภาครัฐบาลหรือเอกชน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองฝึกเองที่บ้านก็ได้หากทราบวิธีการและมีเวลาเพียงพอ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจจะส่งลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถาบันพัฒนาเด็กเล็ก สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาเพื่อการตัดสินใจเลือก ได้แก่

ค่าใช้จ่าย เหมาะสมกับเศรษฐานะ

สถานที่ ใกล้บ้าน หรือที่ทำงาน เหมาะแก่การรับส่ง เดินทางสะดวก ลูกไม่เหนื่อยเกินไปกับการใช้เวลาในการเดินทาง

นโยบายตรงใจกับพ่อแม่ เช่น สนับสนุนการให้นมแม่ โดยยินดีป้อนนมลูกแบบจิบดื่มจากถ้วยแทนการให้ดูดจากขวด หากแม่ร้องขอ เนื่องจากกลัวลูกไม่ยอมดูดจากเต้า หากติดใจขวด ไม่ให้ขนมหวานที่ไม่มีประโยชน์ แต่เน้นการให้ผักหรือผลไม้เป็นอาหารว่าง

คุณภาพ สถานที่ - ปลอดภัย (มีประตูที่เด็กจะเดินออกไปเองไม่ได้ ทางหนีไฟ ระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นมั่นคง มีที่จอดรถห่างจากที่เล่นของเด็ก ไม่แออัด มีการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี ถ้าเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ควรมีห้องแยกเวลาเด็กป่วย มีของเล่นที่หลากหลายเหมาะกับแต่ละวัยเพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอแก่เด็ก ทางโรงเรียนควรมีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ ในกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแก่ลูก มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกรณีคนแปลกหน้ามาลักพาเด็ก

บุคลากร - จำนวนเพียงพอกับจำนวนเด็ก จะได้ดูแลเด็กได้ทั่วถึง เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม รักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็ก ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตหรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีโปรแกรมฝึกพัฒนาการที่แน่นอนสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุ หากมีใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการรวมถึงหลักสูตรที่มีมาตรฐานด้วย จะดีมากขึ้น (แต่แพงขึ้นแน่นอน) ไม่ควรมีทีวีให้เด็กดูเพราะเป็นการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง มีผลเสียจากการดูทีวีมากมาย หากใช้ทีวีเลี้ยงเด็ก ให้ถือว่าเป็นคนดูแลที่ประสิทธิน้อย

ระบบการดูแลสุขภาพเด็ก - มีห้องแยกเด็กป่วยหรือไม่ให้มาเรียนจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ มีความรู้ในการสังเกตอาการเจ็บป่วยของเด็ก เช่น เมื่อเด็กมีไข้ อาเจียน ซึมลง กินน้อยลง ไม่ค่อยเล่น มีตุ่มหรือผื่นขึ้นตามตัว หรือในปาก เพื่อจะได้รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด และรีบโทรศัพท์ตามผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้านหรือพาไปตรวจที่โรงพยาบาล ส่วนในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยเฉียบพลันและจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาทันที ทางโรงเรียนควรมีระบบการนำส่งให้เด็กได้รับการตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้ปกครอง เพราะอาจไม่ทันการณ์ เน้นเรื่องการล้างมือบ่อยๆ โดยการมีก๊อกน้ำจำนวนเพียงพอ หรือมีอัลกอฮอล์เหลวหรืออัลกอฮอล์เจลเอาไว้ถูมือบ่อยๆ ก่อนที่จะเตรียมอาหารให้เด็ก หลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการเช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรืออาเจียนของเด็ก หลังการอุ้มหรือสัมผัสเด็กแต่ละคน ก่อนที่จะสัมผัสเด็กคนต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (สำคัญมากค่ะเรื่องการล้างมือ)

มีห้องเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ อาหารและของว่างถูกหลักโภชนาการและน่าหม่ำ การใช้ส้วมและการกำจัดสิ่งปฏิกูล การแยกข้าวของเครื่องใช้เด็กแต่ละคนไม่ปะปนกัน มีการทำความสะอาดห้องเรียน อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นเป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง อยู่ในที่เห็นได้ง่าย

หากเป็นไปได้ ควรให้ลูกรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อซึ่งมักระบาดตามแหล่งที่มีเด็กอยู่รวมกัน นอกเหนือไปจากวัคซีนบังคับ เช่น โรต้าไวรัส ไข้หวัดใหญ่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากฮิบและไอพีดี โรคสุกใส โรคตับอักเสบเอ โรคทัยฟอยด์

เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่ได้อย่างสบายใจ

Credit: FB page สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

Monday 6 January 2014

ปัญหาลูกน้อยขี้วีน

ความจริงเรื่องความโกรธ อารมณ์ร้าย ขี้โมโหก็เป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้จะเป็น แต่จะมากจะน้อยก็แล้วแต่พื้นอารมณ์ของเด็กและการเลี้ยงดู

เด็กวัยนี้อาจจะแสดงอารมณ์โกรธหรือโมโหได้ง่าย เพราะอยู่ในช่วงที่ชีวิตเปลี่ยนแปลง เช่น บางคนต้องไปโรงเรียนทั้งๆ ที่ยังไม่อยากไป หรือหนูบางคนอาจจะรู้สึกถูกละเลยจึงต้องเรียกร้องความสนใจด้วยการโกรธอยู่เสมอจนติดเป็นนิสัย ซึ่งถ้าเจออารมณ์ของลูกแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องมีวิธีรับมือ และช่วยลูกให้ค่อยๆ ปรับอารมณ์ เรียนรู้เรื่องอารมณ์ของตนเอง และรู้จักควบคุมอารมณ์ให้กลับมาเป็นปกติ

1) ไม่ควรนิ่งดูดายบนอารมณ์ร้ายของลูก

พ่อแม่บางคนเบื่อหน่ายลูกที่ขี้วีน พอลูกอาละวาดก็เลยใช้วิธีไม่สนใจทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งวิธีนี้ลูกจะแสดงอารมณ์โกรธบ่อยๆ จนเป็นนิสัย กลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ขี้หงุดหงิด และแก้ไขปัญหาด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลต่อไป

2) อย่าตำหนิลูกรุนแรงเวลาลูกแสดงอารมณ์โกรธ

การตำหนิทำให้หนูน้อยรู้สึกผิด ยิ่งรู้สึกผิดยิ่งกราดเกรี้ยว หงุดหงิดก็แย่อยู่แล้วและยังถูกดุว่าต่ออีก ลูกจะยิ่งรู้สึกไม่ดีและจะกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสุขภาพจิตเลย การที่ให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมานั้นเป็นการช่วยเด็กระบายความรู้สึกที่ไม่ดีออกมา ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า ไม่ผิดที่จะโมโห หรือ โกรธ แต่ลูกต้องแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสม ซึ่งพ่อแม่ต้องช่วยเหลือเด็กให้รู้จักวิธีแสดงออกที่เหมาะสม

ข้อแนะนำ : เวลาที่ลูกโกรธ แสดงว่าลูกรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ คุณพ่อคุณแม่ควรจะเป็นที่พึ่งพิงที่หนักแน่นมั่นคง กอดลูกไว้ และเมื่อลูกสงบจึงอธิบายถึงเหตุและผลให้ลูกฟังอย่างนุ่มนวล ด้วยวิธีที่ไม่ใช่การตำหนิดุด่า

3) อย่าแก้ปัญหาด้วยการตามใจเด็ก

ไม่ใช่จะตามใจทุกเรื่องจนลูกติดเป็นนิสัย เพราะลูกจะเรียนรู้ว่าต้องวีนจึงจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล

อันไหนไม่ได้ก็ต้องบอกลูกให้ชัดเจนว่าไม่ได้ ถึงหนูจะร้องไห้ แม่ก็ไม่สามารถให้ลูกได้ วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การให้สิ่งที่เขาต้องการเสมอไป

แต่ควรใช้วิธีงเบี่ยงเบนความสนใจ และสุดท้ายเมื่อลูกสงบจึงพูดคุยกับลูกถึงเรื่องที่ผ่านมาว่าทำไมจึงไม่ได้ และการที่ลูกอาละวาดแบบนี้ไม่ดียังไง ทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจอย่างไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะขัดใจไปทุกเรื่องนะคะ ให้ได้ก็ให้ ให้ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร ซึ่งหนูน้อยก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าเขาจะไม่ได้ในทุกสิ่งที่ตัวเองต้องการตลอดไป และการแสดงอารมณ์โกรธเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการก็ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาเสมอไป

4) เทคนิคสยบอารมณ์ร้ายของลูก

รับฟังลูกเสมอ เวลาโกรธ ใครๆ ก็อยากจะระบายออกมาว่าไม่พอใจอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรจะฟังลูกนะคะ ถึงแม้หนูจะตะโกนเสียงดังแค่ไหน ก็ต้องรับฟังเขาเสมอ

สัมผัสรักบรรเทาโกรธ กอดลูกไว้ ลูบหลังไหล่ จับมือลูกไว้ดีกว่าค่ะ การที่มีคนมาสัมผัสลูกจะรับรู้ถึงความอบอุ่นใจ และมั่นคงจากพ่อแม่ การที่ลูกอาละวาดนั่นเพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งหนูน้อยก็รู้สึกตกใจนะคะ ที่อารมณ์ของตัวเองอยู่เหนือการควบคุมอย่างนี้ การสัมผัสจะช่วยคลายอารมณ์ที่กำลังไม่มั่นคง และอยู่เหนือการควบคุมของลูกให้สงบลงได้

ระบายอารมณ์ด้วยศิลปะ ลองหาสี กระดาษให้เขาได้ระบาย วาดรูป หรือเขียนอะไรก็ได้ตามใจ บอกลูกว่าหนูโกรธอะไร หงุดหงิดเรื่องอะไร หรือว่าอยากได้อะไรลองวาดเป็นรูปให้คุณแม่ดูหน่อยสิ ให้แม่ได้รู้ว่าหนูอยากได้อะไร เสร็จแล้วก็เอารูปวาดนั้นมานั่งคุยกับลูก ว่าอันนี้คืออะไร ที่หนูวาดอย่างนี้ต้องการอะไร

การได้ระบายโดยการวาดออกมา และมีคุณแม่มาสนใจถามไถ่ เป็นการบำบัดอารมณ์อย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาชอบใช้กับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำมาใช้ กับการแก้ไขอารมณ์ร้ายของลูกได้ค่ะ

ให้เล่นอะไรที่ใช้แรงเยอะๆ หาของเล่นที่ต้องทุบๆ ตีๆ หรือบีบๆ ปั้นๆ เช่น กลองเด็กเล่น แป้งโด ดินน้ำมัน ให้ลูกได้เล่นแบบใช้แรงเยอะๆ สักพัก ถือเป็นการระบายออกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวเดียวแกก็จะลืมความหงุดหงิดอารมณ์ร้ายที่ออกฤทธิ์ไว้อย่างแน่นอน

ให้อยู่ในที่โล่งๆ ถ้าลูกอาละวาดไม่ควรจะจับขังในห้องแคบๆ เหมือนที่ในหนังชอบทำนะคะ เพราะจะทำร้ายจิตใจหนูมาก และที่แคบๆ จะไม่ช่วยให้อารมณ์ลูกผ่อนคลายลงได้เลย แต่ควรหาที่โล่งๆ เช่น พาออกไปที่สนามหน้าบ้าน ที่โล่งๆ จะช่วยให้อารมณ์ของหนูผ่อนคลายได้มากกว่าค่ะ

สงบสยบโกรธ ถ้าทำทุกอย่างแล้วหนูก็ยังไม่หยุดอาละวาด คุณพ่อคุณแม่ควรจะนิ่งสักพัก ปล่อยให้อารมณ์ของลูกลดลงเอง แต่อย่าไปอาละวาดกลับนะคะ เพราะยิ่งจะเหมือนเอาน้ำมันราดลงไปบนกองไฟ

Tips

คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกนะคะ ไม่ควรจะแสดงอารมณ์กราดเกรี้ยวใส่กันในครอบครัว ไม่ควรโกรธหัวเสียใส่ลูกเวลาที่ลูกวีน หรือเวลาอารมณ์เสียแล้วมาลงที่ลูก เพราะหนูน้อยมองดูอยู่ และกำลังเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ทุกขณะจิตค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารดวงใจพ่อแม่
www.kapook.com

Credit: การดูแลเด็ก ปฐมวัย