Sunday 24 November 2013

พ่อ...ก็ช่วยเลี้ยงลูกได้

เคยรู้สึกไหม...ว่าทำไม สามีไม่ค่อยช่วยเลี้ยงลูกเลย
เราเหนื่อยสายตัวแทบขาด ทำงานสารพัด
ทั้งเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน ทำงานประจำของตัวเอง
จนแทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง

เมื่อสามีกลับมาจากทำงานหรือต่างจังหวัด
ก็จะเล่นกับลูก(บ้าง) ดูบอล ดูทีวี เล่นเกม หรือออกไปสังสรรค์กับเพื่อนนอกบ้าน
กลับไม่(ค่อย)ช่วยแบ่งเบาภาระเราบ้างเลย

แล้วเวลาลูกดื้อ ก็บอกว่าเป็นความผิดเรา หาว่าเลี้ยงลูกไม่เป็นอีก มันน่าน้อยใจนัก
อะไรดีๆ กลับไม่เห็นชม หรือให้กำลังใจสักนิด
เราเป็นคน ก็เหนื่อยเป็น โมโหเป็น ท้อเป็นเหมือนกันนะ
จนบางที อารมณ์เสีย ไปลงกับลูกก็มี...
เฮ้อ..เป็นแม่ที่แย่จริงๆเรา เศร้าจนอยากจะร้องไห้วันละหลายๆรอบ
........................................................
...................................................
.........................................

ปัญหานี้หลายๆบ้านคงจะเคยเกิดขึ้น จากโพสต์ที่แล้ว (เรื่อง แม่ผู้น่าสงสาร)
ผมได้ข้อคิดและแนวทางแก้ไขดังนี้ครับ

1. ผู้ชายส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า หน้าที่การเลี้ยงลูกเป็นของแม่เป็นหลัก
ความคิดนี้อาจสืบเนื่องมายาวนาน ที่ผู้ชายสมัยก่อน เป็นผู้นำครอบครัว
ต้องออกไปทำงาน หาอาหาร ออกรบ เพื่อความอยู่รอด
ภรรยามีหน้าที่ปรนนิบัติ เลี้ยงลูกอยู่บ้าน รอการกลับมาของสามี

แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ในเมื่อต่างคนต่างทำงาน คงไม่เป็นเรื่องที่ยุติธรรมนัก
ถ้าภรรยาต้องรับหน้าที่ในการเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นภาระหนักแต่เพียงผู้เดียว

2. ผู้ชายมักจะยึดติดกับคำว่าผู้นำครอบครัว
ต้องทำงานหาเงิน มีอำนาจปกครองและตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆของบ้าน
ไม่ใช่เรื่องหยุมหยิมแบบการเลี้ยงลูก
จนลืมไปว่า การเป็นผู้นำ ต้องเป็นผู้นำในแบบอย่างสำหรับลูก
โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกชาย
หากพ่อไม่ได้ใกล้ชิด เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง จะให้ลูกซึมซับต้นแบบที่ดีได้อย่างไร

3. พ่อและแม่มีบทบาท ข้อดีที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก
พ่อมักเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในเรื่องความหนักแน่น เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว การตัดสินใจ การแก้ปัญหา
ในขณะที่แม่เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความใส่ใจ ละเอียดอ่อน ความลึกซึ้งทางอารมณ์ ความอดทน

คงจะดีไม่น้อยถ้าลูกได้ใกล้ชิดกับทั้งพ่อและแม่เพื่อเรียนรู้ข้อดีข้อเสียของแต่ละคน
ผสมผสานในสิ่งที่ดี จากความรักและความอบอุ่นที่ได้จากพ่อแม่มาไว้กับตัวเอง

4. ทำความเข้าใจว่า ทั้งพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มีความเป็นส่วนบุคคล
จึงไม่แปลกที่จะมีความคิด ทัศนคติที่แตกต่างกันในเรื่องการเลี้ยงลูก
แต่ทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ต่างก็รักและปรารถนาดีกับเด็ก

ดังนั้นผู้ใหญ่ควรจะคุยปรับความเข้าใจกัน ประนีประนอมความต้องการของแต่ละคน
เพราะถ้ายังไม่ลงรอยกัน จะเกิดความไม่คงเส้นคงวาในการเลี้ยงลูก ยิ่งเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม

5. เนื่องจากพ่อหลายๆคน ไม่ทราบหรือไม่เข้าใจว่าบทบาทพ่อของตัวเองนั้นสำคัญกับลูกเพียงใด
ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไม่ช่วยเลี้ยงลูก
ดังนั้นการสื่อสารที่ดีจากแม่ จะช่วยให้พ่อหลายๆคนเข้าใจ เห็นความสำคัญของตัวเอง
และร่วมมือในการช่วยเลี้ยงลูกหรือแบ่งเบาภาระแม่ได้มากขึ้น

6. อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ดึงพ่อมาช่วยไม่สำเร็จ คือ
แม่สื่อสารโดยใช้อารมณ์ ตำหนิพ่อ บ่น คร่ำครวญมากเกินไป
โยนงานมาให้ทีเดียวหลายอย่าง ยิ่งทำให้พ่ออึดอัด รำคาญใจและไม่อยากช่วยมากกว่าเดิม

7. ตัวอย่างบทสนทนาที่ดี

“วันนี้ทำงานเหนื่อยไหมจ๊ะพ่อ”

“แม่ขอบคุณพ่อมากเลยนะ ที่ผ่านมาพ่อทำงานหนักเพื่อแม่กับลูกมาตลอด”

“ตอนนี้ พอแม่มีงานมากขึ้น ต้องทำอะไรหลายๆอย่าง จนบางทีอะไรๆมันเลยบกพร่องไปบ้าง
จนตอนนี้แม่เองก็เหนื่อย เครียดที่ดูแลอะไรๆได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะกับลูก”

“แม่เลยอยากขอให้พ่อช่วยเรื่องสอนการบ้านลูกตอนเย็นแทนแม่
แม่จะได้มีเวลาไปเตรียมอาหาร ทำงานบ้าน....พ่อคิดว่ายังไงบ้างจ๊ะ”

“พ่อเป็นคนสำคัญของลูกนะ ถ้าพ่อมีเวลาดูแลลูกมากกว่านี้ ลูกคงมีความสุขมาก”

8. หน้าที่ของผู้นำครอบครัวที่สำคัญอีกอย่างคือ การเป็น “ผู้นำ” ความสุขมาสู่สมาชิกในครอบครัว
เมื่อสมาชิกในบ้านมีปัญหา ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งเบา แก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้
บางครั้งอาจต้องเสียสละความสุขส่วนตัว หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมๆไปบ้าง
แต่นี่คือสิ่งที่คนเป็นผู้นำต้องทำ เพราะคุณได้ “เลือกแล้ว” ที่จะรักและดูแลรับผิดชอบคนที่อยู่ข้างๆคุณ
เหมือนที่คุณเคยสัญญากับเค้าก่อนเริ่มใช้ชีวิตร่วมกัน

9. ท้ายที่สุด เมื่อคุยข้อตกลงแล้ว พ่อยังไม่สามารถปรับเวลาให้ลงตัวได้
การสื่อสารกันด้วยเหตุผล เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ก็ยังช่วยให้คนเป็นแม่รู้สึกดีขึ้นได้
บางที แม่ก็ไม่ได้ต้องการให้พ่อทิ้งงานมาช่วยเลี้ยงหรอก
ขอแค่กำลังใจ คำพูดดีๆให้กัน แค่นั้นก็พอ เท่านี้แม่ก็มีแรงฮึดสู้ได้แล้ว

10. ข้อนี้สำคัญมาก...ไม่ว่าจะมีใครมาช่วยหรือไม่ช่วยก็ตามแต่
จงเป็นแม่ที่เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเอง
หน้าที่นี้ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจ และไม่มีใครทำแทนเราได้
มองเรื่องยากให้เป็นเรื่องท้าทาย สนุกกับมัน
เหนื่อยก็พัก แล้วลุกมาสู้ต่อ
พอวันนึงที่ลูกโตขึ้นคุณจะภาคภูมิใจที่เลี้ยงเค้ามาจนโตได้ขนาดนี้

# หมอไปป์ แฮปปี้คิดส์

ที่มาบทความ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย

No comments:

Post a Comment