Friday 14 February 2014

แม่ให้นมบุตร มียาอะไรที่ห้ามทาน?

ยาที่ห้ามใช้ มีเพียงไม่กี่ชนิดค่ะ เช่นยารักษามะเร็ง สารกัมมันตรังสี ยาไมเกรนจำพวก ergotamine แอสไพริน ยากันเลือดแข็งตัวบางชนิด ยานอนหลับ phenobarbital
ยาแก้อักเสบส่วนมากใช้ได้ ที่ต้องระวังคือยาซัลฟ่าบางชนิดค่ะ
(จากหนังสือ ถาม-ตอบ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดย พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ)

สำหรับแม่ๆ ที่เป็นไทรอยด์ ให้นมลูกได้หรือไม่?
ให้ได้ค่ะ แต่ถ้าใช้ยาขนาดสูง ควรติดตามอาการของลูกด้วย

ภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติมีได้ 2 ลักษณะกรณีต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ (hypothyroid) สร้างฮอร์โมนได้น้อยลง ยาที่ให้จะเป็นฮอร์โมนธัยรอยด์ซึ่งให้เพื่อชดเชย ได้แก่ Eltroxine ออกทางนมแม่ได้น้อย กรณีต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (hyperthyroid) ยาที่แม่ได้รับจะมี 2 ชนิด คือ propylthiouracll (PTU) หรือ methimazole (MMI) สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริการับรองให้ใช้ได้รับรองให้ใช้ได้ในแม่ที่ให้นมลูก

ยาเหล่านี้ ถ้าใช้ในขนาดธรรมดาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้ขนาดสูง ก็อาจแจ้งคุณหมอเด็กที่ดูแลลูกให้ช่วยติดตามการทำงานของไทรอยด์ของลูกด้วย แต่โดยมากคุณหมอจะพยายามปรับขนาดยาให้น้อยเท่าที่จะควบคุมอาการได้ อยู่แล้ว และหากต้องการลดผลของยา ก็สามารถปรับเวลา โดยกินยาในช่วงที่ลูกจะหลับยาวหรือหลังลูกดูดนมอิ่มแล้วก็ได้

ในหญิงให้นมบุตรสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง methimazole (น้อยกว่า 20 มก./วัน) และ PTU น้อยกว่า 300 มก./วัน)
http://www.doctor.or.th/clinic/detail/7151

Propranolol ทานได้ risk level 0 (ไฟเขียว)
Methimazole ทานได้ risk level 0 (ไฟเขียว) ทานได้สูงถึง 20-30 มก.
ข้อมูลจากเว็บเช็คยาสำหรับแม่ให้นม www.e-lactancia.org

ส่วนตัวไม่แนะนำให้ทานยาแก้แพ้ CPM
แม้ว่า CPM ไม่มีผลต่อลูก แต่มีผลกดการหลั่งของน้ำนม ส่งผลให้น้ำนมน้อยลงได้นะคะ
เช่นเดียวกับยาลดน้ำมูก Pseudoephedrine ก็ทำให้น้ำนมลดน้อยลงได้หากทานติดต่อกันหลายๆ วันค่ะ
ถ้าต้องการก็สามารถทานเพื่อให้แม่หายใจสะดวก ให้แม่ได้พักผ่อน ไม่คัดจมูก พออาการทุเลาก็หยุดทาน ไม่ต้องทานติดต่อหลายๆ วันจนหมดค่ะ

สำคัญนะคะ
แม่เป็นหวัดไม่ต้องหยุดให้นมแม่ เพียงใช้หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ จะเป็นการลดโอกาสส่งเชื้อให้ลูก และลูกจะได้ภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดนั้นๆ ผ่านน้ำนมแม่ ช่วยให้ไม่ติดหวัดจากแม่ แม้จะติดก็จะไม่ป่วยมากและหายไวค่ะ

การที่แม่ทานยาและงดให้นมบุตรโดยไม่จำเป็น เพราะ "เผื่อไว้ก่อน"
เสี่ยงที่ลูกจะติดจุก ไม่กลับมาดูดนมแม่อีก
เสี่ยงลูกติดหวัดจากแม่ เพราะแม่ไม่ให้ลูกกินนมแม่ที่มีภูมิต้านทาน
เสี่ยงที่น้ำนมจะลด เพราะลูกไม่ได้ดูดกระตุ้น แม่ปั๊มได้บ่อยไม่พอ
เสี่ยงลูกแพ้นมวัว เพราะให้กินนมผงแทนนมแม่ค่ะ

ที่มา: นมแม่ แบบแฮปปี้

20 วิธีเสริมพลังสมองเด็ก 0 - 3 ปี

20 วิธีเสริมพลังสมองเด็ก 0 - 3 ปี
โดย นพ.อุดม เพชรสังหาร

ช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่สมองของเด็กมีการเติบโตมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ หากพ่อแม่สร้างสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสม สมองของเขาก็จะเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ความสมบูรณ์ของสมองในช่วงนี้คือรากฐานสำคัญของชีวิตและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของคนเราเมื่อเติบโตขึ้น

สมอง, กิจกรรมพัฒนาสมอง, การพัฒนาสมอง, เด็ก 1-3 ปี, เด็กวัยเตาะแตะ, พัฒนาการ, การเล่น, การนวดตัว, นวดเ็ด็ก, จินตนาการ, หนังสือภาพ, ของเล่น, การกอด, เล่นกับลูก, อาหารพัฒนาสมอง, นิทาน, เพลงกล่อมลูก

โจเซฟ เลอดอกซ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองระดับแนวหน้าของโลกคนหนึ่ง ถึงกับกล่าวไว้ว่า “Who we are, we are our synapses.” ซึ่งช่วยตอกย้ำว่าสมองของคนเรามีความสำคัญเพียงไร (synapse หมายถึงรอยเชื่อมต่อของเซลล์สมองแต่ละเซลล์, ผู้เขียน)

อย่างไรก็ตาม แม้สมองจะมีความสำคัญปานนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการที่ทำให้สมองมีพัฒนาการ มีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์จะมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทุกอย่างเป็นไปตาม หลักธรรมชาติ อะไรที่ฝืนธรรมชาติ อะไรที่เกินธรรมชาติ อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของสมองได้

เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ก็แปลว่าพ่อแม่ ครู ผู้คนรอบข้างสามารถช่วยเหลือเด็กในการสร้างและพัฒนาสมองของพวกเขาได้ ขอเพียง “เข้าใจในธรรมชาติของเด็ก และธรรมชาติสมองของพวกเขา” เท่านั้น

นั่นคือ หลักธรรมชาติที่ว่า “Use it or lose it.” ความหมายคือ สมองเติบโตและพัฒนาได้เพราะเราใช้งานมัน ตรงกันข้ามหากเราไม่ใช้งาน สมองก็จะลีบฝ่อและถูกทำลายไปในที่สุด

และหลักธรรมชาติที่ว่า สมองทำงานพร้อมกันทั้งสองข้าง ไม่มีแยกซ้ายแยกขวาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การพัฒนาสมองจึงต้องยึดหลักองค์รวม ไม่ใช่การแยกส่วนพัฒนา

รวมถึงหลักธรรมชาติที่ว่า สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ช่วยให้สมองมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ในที่นี้หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีคนพูดคุยด้วย เล่นด้วย สิ่งแวดล้อมที่มีวัตถุดิบให้ได้สำรวจ เรียนรู้ ตามความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่ท้าทายความอยากรู้ สิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัย ไม่กดดัน
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของกิจกรรมง่ายๆ ที่พ่อแม่ สามารถลงมือทำเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของสมองของลูกได้ด้วย 20 วิธี ดังนี้

1. ดูแลเรื่องอาหารการกิน ให้เป็นไปตามธรรมชาติของวัย เด็กควรได้รับสารอาหารอะไร ควรเพิ่มสารอาหารอะไร แต่สิ่งที่อยากจะย้ำเกี่ยวกับเรื่องอาหารก็คือ “อย่าให้ลูกกินหวาน”

โดยเฉพาะรสหวานที่มาจากน้ำตาลซึ่งเป็นสารโมเลกุลเล็ก เพราะมันจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินความพอดี ทำให้ร่างกายต้องขับสารบางอย่างออกมาเพื่อขจัดน้ำตาลที่เกินพอดีนี้ ผลก็คือทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติภายในเวลาอันรวดเร็ว

ในการทำงานของสมองนั้น สมองต้องการน้ำตาลในระดับที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป ส่วนรสหวานที่มาจากผลไม้ ผัก หรือธัญพืช เป็นสารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ ซึ่งจะค่อยๆ ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย จึงไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการของสมอง

2. เวลาอาหารของลูกอย่าทำให้เป็นเวลาแห่งความทุกข์ หรือเป็นการบังคับขู่เข็ญ เพราะจะทำให้เขาปฏิเสธอาหาร ซึ่งจะมีผลเสียต่อพัฒนาการของสมอง ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าเวลาอาหารคือเวลาแห่งความสุข

3. พูดคุยเล่นกับลูก แม้เขาจะยังพูดไม่ได้ เสียงสูงๆ ต่ำๆ ของพ่อแม่จะกระตุ้นประสาทการได้ยิน ท่าทางประกอบคำพูดจะบ่งบอกความหมายของคำพูด มันคือจุดเริ่มต้นของการรู้ภาษา รวมทั้งความสามารถในการสื่อสาร

4. เล่นกับลูกบ่อยๆ จับปูดำขยำปูนา ตบแผะ จ้ำจี้ ฯลฯ การเล่นเช่นนี้ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวมือ ขา ร่างกาย ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

5. ฝึกอ่านใจลูก และตอบสนองต่อความต้องการของลูกให้ถูก การชี้นิ้วมือแบบนี้หมายถึงอะไร เสียงแบบนี้เขาต้องการอะไร การตอบสนองตรงกับความต้องการจะทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีค่า สิ่งนี้ช่วยพัฒนาสมองส่วนอารมณ์และความรู้สึกของเขาให้มีความสมบูรณ์

6. ใช้หนังสือภาพ (Picture Book) หมั่นชวนลูกดูหนังสือภาพ เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นสายตาและการมองแล้ว ยังช่วยให้เขาได้เรียนรู้ภาษา เรียนรู้สิ่งรอบตัวผ่านหนังสือภาพได้อีก

7. การเล่านิทานให้ลูกฟัง จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของภาษาและการสื่อสาร กระตุ้นการคิด จินตนาการ สมาธิ และที่สำคัญทำให้เขารู้ว่าเรารักเขา ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย อบอุ่น

8. ร้องเพลงกล่อมลูก เสียงสูงๆ ต่ำๆ แถมมีจังหวะด้วยช่วยกระตุ้นสมองได้ดี พัฒนาการของภาษา สมาธิ การคิด ความจำจะถูกกระตุ้นจากเสียงเพลง ข้อสำคัญยังตอกย้ำว่าเรารักเขา

9. หาของเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ของเล่นที่ช่วยพัฒนาความคิด จินตนาการ ฝึกความอดทน ฝึกการแก้ปัญหามาให้ลูกเล่น ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงหรือมีกลไกซับซ้อน ขอเพียงช่วยสร้างสิ่งที่กล่าวไว้ให้ลูกเราได้ก็พอ

10. การโอบกอด สัมผัส ลูบผมหอมแก้ม ดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ช่วยกระตุ้นการหลั่ง Nerve Growth Factor ซึ่งจะไปกระตุ้นสมองให้มีพัฒนาการและเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ข้อสำคัญคือส่งสัญญาณให้เขารับรู้ว่าเรารักเขา

11. เวลาลูกร้อง ตอบสนองให้ไว เพราะเด็กทุกคนต้องการความปลอดภัย เมื่อเขารู้สึกว่าตนเองปลอดภัย สมองของเขาก็จะพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย สมองจะพัฒนาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหนีภัยเท่านั้น

12. การนวดตัว เวลาที่เด็กเครียดช่วยให้เด็กผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี เวลาเขาไม่สบาย เวลาที่เขาเสียใจ ลองช่วยนวดก็น่าจะดี อย่าลืมว่าเวลาเด็กเครียดสมองของเขาจะไม่พัฒนา

13. สร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ปลอดภัย เพื่อให้เขาได้สำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างอิสระ โดยที่เราไม่ต้องกังวล หรือต้องคอยห้ามปราม สมองของเด็กเติบโตเพราะการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ปลั๊กไฟ ของมีคม ของที่จะทำให้เกิดอันตราย ต้องแยกออกไป

14. ทำความเข้าใจพื้นอารมณ์ (Temperament) ของลูกเพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนขี้โมโห บางคนขี้อาย บางคนกล้าที่จะแสดงออก ยอมรับความเป็นตัวเขาแล้วค่อยๆ พาเขาพัฒนาตนเองไปสู่สิ่งที่ทุกคนยอมรับ การฝืนและบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการทันทีจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และไม่สามารถที่จะเรียนรู้สิ่งที่เราอยากให้เป็นได้

15. มีความคงเส้นคงวา ตอบสนองต่อเด็กอย่างชัดเจนและในทัศนะท่าทีแบบเดิมต่อพฤติกรรมแบบเดิมของเด็ก ความคงเส้นคงวาของเราจะทำให้เด็กสามารถคาดการณ์สิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่สับสน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของเขา

16. “จับถูก” อย่า “จับผิด” เพราะมนุษย์พัฒนาได้ดีจากจุดแข็ง ให้รางวัลในสิ่งที่เขาทำได้และเราอยากให้ทำและต้องไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เขายังทำไม่ได้

17. เป็นต้นแบบในการแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ลูกเห็น และในจังหวะที่เหมาะที่ควร การสอนให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสอนได้ด้วยการทำให้เห็น ไม่ใช่สอนด้วยคำพูด

18. ให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ เช่น เล่นกองทราย เล่นน้ำ (เวลาอาบน้ำ) เพราะช่วยบ่มเพาะสมองส่วนจินตนาการ

19. ทำตัวของเราให้สนุกไปกับกิจกรรมของลูก เพราะการช่วยบอกเขาว่า “เรื่องของหนู น่าสนใจจริงๆ” ทำให้เขาเกิดความมั่นใจ ซึ่งจะเป็นแรงเสริมต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก

20. ทำทุกอย่างที่ว่ามาทั้งหมดด้วยความรัก และความเข้าใจในตัวเขา อย่าเอาลูกไปเทียบกับคนโน้นคนนี้ เพราะเขาก็คือเขา ไม่มีทางที่จะเหมือนคนอื่นไปทั้งหมด

หวังว่าคงช่วยให้พ่อแม่เกิดความสบายใจว่า การพัฒนาสมองลูกการช่วยให้สมองของลูกมีความสดใสกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลานั้น ไม่ใช่เรื่องยากขอเพียงเราเข้าใจหลักธรรมชาติ ของสมองเท่านั้นเอง

ที่มา: www.momypedia.com

ความเข้าใจผิดเรื่องนมแม่และอาหารของแม่หลังคลอด

1) แม่ให้นม ไม่ต้องทานมากๆ เพื่อบำรุงน้ำนม!
แม่จะอ้วน น้ำหนักจะไม่ลดซะที
แต่ให้คุณแม่ทานพอเหมาะ ทานมากขึ้น 500 แคลอรี่ ซึ่งเท่ากับ ก๋วยเตี๋ยว 1 ชามต่อวันเท่านั้น
เราทานเพื่อบำรุงตัวเอง ไม่ใช่บำรุงน้ำนมค่ะ
ใครที่ทานมากๆ และคิดว่าจะบำรุงน้ำนม ระวังจะลดไม่ลงนะคะ

ร่างกายจะดึงสารอาหารจากร่างกายของแม่เพื่อสร้างนมแม่
ถ้าแม่ทานอาหารไม่ครบหมู่ แม่จะโทรมและขาดอาหาร
น้ำนมแม่จะดีพร้อมเสมอนะคะ
ถ้าแม่ขาดอาหาร อดอาหาร น้ำนมแม่จะดีเสมอ แต่ร่างกายจะผลิตน้ำนมน้อยลงเพื่อปกป้องแม่ไม่ให้ขาดอาหารไปมากกว่านี้ค่ะ

2) แม่ไม่ต้องทานมากๆ เพื่อให้มีน้ำนม
ตามที่ได้นำเสนอไปเมื่อหลายวันก่อน กลไกการสร้างน้ำนมอยู่ที่การดูดกระตุ้น
ไม่เกี่ยวข้องกับการกิน กระเพาะอาหารไม่ช่วยผลิตน้ำนมค่ะ

แม่ที่กินมากๆ บำรุงแต่"ของดี" จะ "โชคร้าย" และไม่มีน้ำนมเลยถ้าไม่ให้ลูกดูด
แต่แม่ที่ทานอาหารครบหมู่ปกติทั่วไป จะมีน้ำนมมากสุดๆ ขอเพียงให้ลูกดูดมากๆ/หรือมีวินัยการปั๊มถ้าลูกไม่ดูดเต้าค่ะ

แม่ให้นมบุตร น้ำหนักจะลดเร็วมากโดยไม่ต้องอยู่ไฟ ไม่ต้องพึ่งยาใดๆ ค่ะ
วันหนึ่งแม่ให้นมจะเผาผลาญเทียบเท่าไปวิ่งจ๊อกกิ้ง 1 ชม. นะคะ
(เหนื่อยจะตาย สู้เรานอนให้นมเฉยๆ ไม่ได้เลย สบายกว่าเยอะ)

แต่เราต้องไม่ตามใจปาก ไม่ทานของหวานขนมนมเนย ของจุบจิบ หรือขนมกะทิบ่อยๆ
น้ำหนักจะไม่ลดค่ะ
แถมเต้านมตันง่าย นมแข็งกลายเป็นหิน ลูกแพ้โปรตีนนมเนยผ่านนมแม่ได้อีก
กินพอดีๆ ทานอาหารครบหมู่ ทานผักผลไม้ดีที่สุดนะคะ ผิวลูกและแม่จะสวยมากค่ะ

ที่มา: นมแม่ แบบแฮปปี้

เกณฑ์น้ำหนักของลูกโดยคร่าวๆ

1 สัปดาห์แรก น้ำหนักจะลด 10% ของนน.แรกเกิด
ครบ 2 สัปดาห์ น้ำหนักจะเท่านน. แรกเกิด
น้ำหนักลูกจะขึ้นประมาณ 500-1000 กรัมต่อเดือนนะคะ

พอครบ 5 เดือน ลูกจะหนักเป็น 2 เท่าของแรกเกิด
หนักเป็น 3 เท่าของแรกเกิดตอน 1 ปี
และจะหนักเป็น 4 เท่าของแรกเกิดตอน 2 ขวบค่ะ

ถ้าแรกเกิด หนัก 2,500 กรัม
1 สัปดาห์แรก นน. ลด 250 กรัม **เป็นปกติ**
ครบ 2 สัปดาห์ นน. จะขึ้นมาเป็น 2,500 กรัม ไม่ใช่ นน. ไม่ขึ้นนะคะ
ให้กินบ่อยๆ 8-10 มื้อต่อวัน อย่าจำกัดเวลาค่ะ

เกณฑ์น้ำหนักตอน 5 เดือนคือสองเท่า = 5 กก.
(2,500 x 2 = 5,000 กรัม)
หลัง 6 เดือน ถ้าเริ่มซีด แสดงว่าต้องเพิ่มธาตุเหล็กในอาหารเสริม เช่น ไข่แดง ตับ ผักสีเขียวเข้ม

ตั้งเป้าว่า 1 ขวบจะหนักประมาณ 7.5 กก. ก็คือ 3 เท่าของแรกเกิดนะคะ
(2,500 x 3 = 7,500 ค่ะ)
หลังจากนี้ถัา นน. ยังต่ำกว่า 3 เท่า ต้องเพิ่มน้ำหนักด้วยการให้ทานข้าว 3 มื้อเป็นหลัก ไม่ทานนมมากๆ แล้วค่ะ

ที่มา: นมแม่ แบบแฮปปี้

ลูกดื้อ ทำอย่างไรดี ใช้วิธีขู่ดีไหม

"ลูกชายวัย 2 ขวบครึ่ง มีปัญหาเรื่องพูดอะไรก็ไม่เชื่อ คุณแม่ห้ามอะไรไม่ค่อยฟัง ก็เลยต้องใช้วิธีการงัดสิ่งที่เขากลัวขึ้นมาขู่จึงจะยอมเชื่อ เช่น เดี๋ยวเรียกเสือมานะ เรียกหมามากัดนะ แต่คุณแม่ก็กังวลว่าจะเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม อยากถามคุณหมอว่าจะมีวิธีอะไรดีกว่านี้ในการห้ามปรามลูกไหมคะ"

การขู่เป็นวิธีที่ง่ายในการทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้บ้าง แต่จะไม่ได้ผลถาวร และ มีผลเสียตามมา เช่น

1.ลูกจะมีพัฒนาการด้านภาษาไม่ดี เพราะสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารกับลูก จะช่วยพัฒนากระบวนการทางความคิดให้กับลูก ถ้าการบอกเหตุและผลสอดคล้องกัน จะทำให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีกว่า พัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ก็จะดีตามไปด้วย เนื่องจากการที่ลูกได้เรียนรู้ว่าหากทำหรือไม่ทำแบบนี้ ผลที่เกิดตามมาจะเป็นอย่างไร จะช่วยให้ลูกเรียบเรียงความคิด และสื่อสารออกมาได้ดีกว่าการที่ได้รับข้อมูลแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น ถ้าลูกดื้อไม่ยอมกินข้าว แล้วคุณแม่บอกว่า จะเรียกเสือมากัด แทนที่จะพูดว่า ถ้าลูกไม่กิน ลูกก็จะหิว เพราะลูกก็จะไม่ได้กินอะไรอีก จนกว่าจะถึงมื้อต่อไป ลูกก็จะงงว่า ไม่กินข้าว แล้วเสือจะมากัดได้ยังไง เมื่อเหตุและผลไม่สอดคล้องกัน ลูกก็ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

2.ทำให้ลูกเป็นคนขี้กลัว วิตกกังวลได้ง่าย เช่น “ถ้าซน จะให้หมอฉีดยาเจ็บๆ” “ถ้าไม่ยอมนอน ผีจะมาจับตัวไป” เหล่านี้จะทำให้ลูกกลัวหมอแบบไม่มีเหตุผล หรือ ทำให้ลูกกลัวความมืด ไม่ยอมนอนยิ่งกว่าเดิม เพราะกลัวว่าผีจะมาจับตัวไปจริงๆ

3.ถ้าคำขู่นั้นไม่เป็นจริง ลูกก็ไม่เชื่อถือพ่อแม่ ไม่สนใจคำขู่อีกต่อไป

4.คำขู่อันตราย เช่น “ถ้าทำแบบนี้ จะไม่รักนะ” ห้ามใช้เด็ดขาด เพราะเป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจลูก ยิ่งใช้บ่อยๆ จะทำให้ลูกเชื่อว่าพ่อแม่ไม่รัก กลายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสุขก็จะยิ่งมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์มากขึ้น หรือ ดื้อมากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องการทดสอบว่า ที่จริงแล้วพ่อแม่ยังรักเขาอยู่หรือเปล่า

ต่อไปนี้ คือ วิธีการที่ใช้ได้ผลมากกว่า

1.พูดชมเชยเวลาลูกมีพฤติกรรมที่ดี เช่น "หนูน่ารักมากๆ เวลาที่หนูไม่ตะโกน” “ลูกเก่งมากที่กินผักวันนี้”

2.เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น การเข้าคิวซื้อกาเร็ตป๊อปคอร์น/คริสปี้ครีมไม่แซงคิว การผลัดกันไม่แย่งกันเวลาเจอของแบรนด์เนมลดราคา การรอคอยอย่างอดทนไม่โวยวายเวลาต้องรออะไรนานๆเช่นเวลารอตรวจที่รพ. เป็นต้น

3.บอกผลตามมาที่เป็นจริง ซึ่งอาจเป็นการให้รางวัล ทำสิ่งที่ลูกชอบ หรือ การงดของที่ลูกชอบ เช่น "ถ้าลูกไม่เก็บของเล่นให้เรียบร้อย แม่จะเก็บแล้วหนูจะไม่ได้เล่นอีก 3 วัน” “ถ้าลูกแบ่งของให้น้องเล่น วันนี้แม่จะอ่านนิทานให้ฟังเพิ่มขึ้นอีก 1 เรื่อง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้จริงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้พ่อแม่เป็นคนที่เชื่อถือได้ในคำพูด

4.ไม่พูดว่า “จะไม่รักลูก” ให้พูดว่า “แม่รักลูก แต่แม่เสียใจที่ลูกไม่เชื่อฟังแม่” “แม่รักลูก แต่แม่ไม่ชอบเวลาที่ลูกดื้อกับแม่” “แม่รักลูก แต่ถ้าลูกทำผิด แม่ก็ต้องลงโทษลูก"

ปล.1 ป๊อบคอร์น คริสปี้ครีม เป็นอาหารกลุ่มเสี่ยง มีเนยนมชีส กินแล้วแพ้ได้ และ อ้วนด้วยค่ะ หญิงตั้งครรภ์และคุณแม่ให้นมแม่ไม่ควรกิน และคุณพ่อก็ไม่ควรกินยั่วคุณแม่ด้วย เพื่อไม่ให้คุณแม่ตบะแตก

ปล.2 คุณแม่ให้นมแม่ สามารถซื้อของแบรนด์เนมดีๆได้บ้าง เพราะมีเงินเหลือจากค่านมผง และ ค่ารักษาพยาบาลเวลาลูกเจ็บป่วยปีละหลายหมื่นบาท

Credit: สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ