Friday 14 February 2014

แม่ให้นมบุตร มียาอะไรที่ห้ามทาน?

ยาที่ห้ามใช้ มีเพียงไม่กี่ชนิดค่ะ เช่นยารักษามะเร็ง สารกัมมันตรังสี ยาไมเกรนจำพวก ergotamine แอสไพริน ยากันเลือดแข็งตัวบางชนิด ยานอนหลับ phenobarbital
ยาแก้อักเสบส่วนมากใช้ได้ ที่ต้องระวังคือยาซัลฟ่าบางชนิดค่ะ
(จากหนังสือ ถาม-ตอบ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดย พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ)

สำหรับแม่ๆ ที่เป็นไทรอยด์ ให้นมลูกได้หรือไม่?
ให้ได้ค่ะ แต่ถ้าใช้ยาขนาดสูง ควรติดตามอาการของลูกด้วย

ภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติมีได้ 2 ลักษณะกรณีต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ (hypothyroid) สร้างฮอร์โมนได้น้อยลง ยาที่ให้จะเป็นฮอร์โมนธัยรอยด์ซึ่งให้เพื่อชดเชย ได้แก่ Eltroxine ออกทางนมแม่ได้น้อย กรณีต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (hyperthyroid) ยาที่แม่ได้รับจะมี 2 ชนิด คือ propylthiouracll (PTU) หรือ methimazole (MMI) สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริการับรองให้ใช้ได้รับรองให้ใช้ได้ในแม่ที่ให้นมลูก

ยาเหล่านี้ ถ้าใช้ในขนาดธรรมดาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้ขนาดสูง ก็อาจแจ้งคุณหมอเด็กที่ดูแลลูกให้ช่วยติดตามการทำงานของไทรอยด์ของลูกด้วย แต่โดยมากคุณหมอจะพยายามปรับขนาดยาให้น้อยเท่าที่จะควบคุมอาการได้ อยู่แล้ว และหากต้องการลดผลของยา ก็สามารถปรับเวลา โดยกินยาในช่วงที่ลูกจะหลับยาวหรือหลังลูกดูดนมอิ่มแล้วก็ได้

ในหญิงให้นมบุตรสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง methimazole (น้อยกว่า 20 มก./วัน) และ PTU น้อยกว่า 300 มก./วัน)
http://www.doctor.or.th/clinic/detail/7151

Propranolol ทานได้ risk level 0 (ไฟเขียว)
Methimazole ทานได้ risk level 0 (ไฟเขียว) ทานได้สูงถึง 20-30 มก.
ข้อมูลจากเว็บเช็คยาสำหรับแม่ให้นม www.e-lactancia.org

ส่วนตัวไม่แนะนำให้ทานยาแก้แพ้ CPM
แม้ว่า CPM ไม่มีผลต่อลูก แต่มีผลกดการหลั่งของน้ำนม ส่งผลให้น้ำนมน้อยลงได้นะคะ
เช่นเดียวกับยาลดน้ำมูก Pseudoephedrine ก็ทำให้น้ำนมลดน้อยลงได้หากทานติดต่อกันหลายๆ วันค่ะ
ถ้าต้องการก็สามารถทานเพื่อให้แม่หายใจสะดวก ให้แม่ได้พักผ่อน ไม่คัดจมูก พออาการทุเลาก็หยุดทาน ไม่ต้องทานติดต่อหลายๆ วันจนหมดค่ะ

สำคัญนะคะ
แม่เป็นหวัดไม่ต้องหยุดให้นมแม่ เพียงใช้หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ จะเป็นการลดโอกาสส่งเชื้อให้ลูก และลูกจะได้ภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดนั้นๆ ผ่านน้ำนมแม่ ช่วยให้ไม่ติดหวัดจากแม่ แม้จะติดก็จะไม่ป่วยมากและหายไวค่ะ

การที่แม่ทานยาและงดให้นมบุตรโดยไม่จำเป็น เพราะ "เผื่อไว้ก่อน"
เสี่ยงที่ลูกจะติดจุก ไม่กลับมาดูดนมแม่อีก
เสี่ยงลูกติดหวัดจากแม่ เพราะแม่ไม่ให้ลูกกินนมแม่ที่มีภูมิต้านทาน
เสี่ยงที่น้ำนมจะลด เพราะลูกไม่ได้ดูดกระตุ้น แม่ปั๊มได้บ่อยไม่พอ
เสี่ยงลูกแพ้นมวัว เพราะให้กินนมผงแทนนมแม่ค่ะ

ที่มา: นมแม่ แบบแฮปปี้

20 วิธีเสริมพลังสมองเด็ก 0 - 3 ปี

20 วิธีเสริมพลังสมองเด็ก 0 - 3 ปี
โดย นพ.อุดม เพชรสังหาร

ช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่สมองของเด็กมีการเติบโตมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ หากพ่อแม่สร้างสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสม สมองของเขาก็จะเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ความสมบูรณ์ของสมองในช่วงนี้คือรากฐานสำคัญของชีวิตและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของคนเราเมื่อเติบโตขึ้น

สมอง, กิจกรรมพัฒนาสมอง, การพัฒนาสมอง, เด็ก 1-3 ปี, เด็กวัยเตาะแตะ, พัฒนาการ, การเล่น, การนวดตัว, นวดเ็ด็ก, จินตนาการ, หนังสือภาพ, ของเล่น, การกอด, เล่นกับลูก, อาหารพัฒนาสมอง, นิทาน, เพลงกล่อมลูก

โจเซฟ เลอดอกซ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองระดับแนวหน้าของโลกคนหนึ่ง ถึงกับกล่าวไว้ว่า “Who we are, we are our synapses.” ซึ่งช่วยตอกย้ำว่าสมองของคนเรามีความสำคัญเพียงไร (synapse หมายถึงรอยเชื่อมต่อของเซลล์สมองแต่ละเซลล์, ผู้เขียน)

อย่างไรก็ตาม แม้สมองจะมีความสำคัญปานนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการที่ทำให้สมองมีพัฒนาการ มีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์จะมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทุกอย่างเป็นไปตาม หลักธรรมชาติ อะไรที่ฝืนธรรมชาติ อะไรที่เกินธรรมชาติ อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของสมองได้

เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ก็แปลว่าพ่อแม่ ครู ผู้คนรอบข้างสามารถช่วยเหลือเด็กในการสร้างและพัฒนาสมองของพวกเขาได้ ขอเพียง “เข้าใจในธรรมชาติของเด็ก และธรรมชาติสมองของพวกเขา” เท่านั้น

นั่นคือ หลักธรรมชาติที่ว่า “Use it or lose it.” ความหมายคือ สมองเติบโตและพัฒนาได้เพราะเราใช้งานมัน ตรงกันข้ามหากเราไม่ใช้งาน สมองก็จะลีบฝ่อและถูกทำลายไปในที่สุด

และหลักธรรมชาติที่ว่า สมองทำงานพร้อมกันทั้งสองข้าง ไม่มีแยกซ้ายแยกขวาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การพัฒนาสมองจึงต้องยึดหลักองค์รวม ไม่ใช่การแยกส่วนพัฒนา

รวมถึงหลักธรรมชาติที่ว่า สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ช่วยให้สมองมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ในที่นี้หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีคนพูดคุยด้วย เล่นด้วย สิ่งแวดล้อมที่มีวัตถุดิบให้ได้สำรวจ เรียนรู้ ตามความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่ท้าทายความอยากรู้ สิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัย ไม่กดดัน
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของกิจกรรมง่ายๆ ที่พ่อแม่ สามารถลงมือทำเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของสมองของลูกได้ด้วย 20 วิธี ดังนี้

1. ดูแลเรื่องอาหารการกิน ให้เป็นไปตามธรรมชาติของวัย เด็กควรได้รับสารอาหารอะไร ควรเพิ่มสารอาหารอะไร แต่สิ่งที่อยากจะย้ำเกี่ยวกับเรื่องอาหารก็คือ “อย่าให้ลูกกินหวาน”

โดยเฉพาะรสหวานที่มาจากน้ำตาลซึ่งเป็นสารโมเลกุลเล็ก เพราะมันจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินความพอดี ทำให้ร่างกายต้องขับสารบางอย่างออกมาเพื่อขจัดน้ำตาลที่เกินพอดีนี้ ผลก็คือทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติภายในเวลาอันรวดเร็ว

ในการทำงานของสมองนั้น สมองต้องการน้ำตาลในระดับที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป ส่วนรสหวานที่มาจากผลไม้ ผัก หรือธัญพืช เป็นสารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ ซึ่งจะค่อยๆ ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย จึงไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการของสมอง

2. เวลาอาหารของลูกอย่าทำให้เป็นเวลาแห่งความทุกข์ หรือเป็นการบังคับขู่เข็ญ เพราะจะทำให้เขาปฏิเสธอาหาร ซึ่งจะมีผลเสียต่อพัฒนาการของสมอง ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าเวลาอาหารคือเวลาแห่งความสุข

3. พูดคุยเล่นกับลูก แม้เขาจะยังพูดไม่ได้ เสียงสูงๆ ต่ำๆ ของพ่อแม่จะกระตุ้นประสาทการได้ยิน ท่าทางประกอบคำพูดจะบ่งบอกความหมายของคำพูด มันคือจุดเริ่มต้นของการรู้ภาษา รวมทั้งความสามารถในการสื่อสาร

4. เล่นกับลูกบ่อยๆ จับปูดำขยำปูนา ตบแผะ จ้ำจี้ ฯลฯ การเล่นเช่นนี้ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวมือ ขา ร่างกาย ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

5. ฝึกอ่านใจลูก และตอบสนองต่อความต้องการของลูกให้ถูก การชี้นิ้วมือแบบนี้หมายถึงอะไร เสียงแบบนี้เขาต้องการอะไร การตอบสนองตรงกับความต้องการจะทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีค่า สิ่งนี้ช่วยพัฒนาสมองส่วนอารมณ์และความรู้สึกของเขาให้มีความสมบูรณ์

6. ใช้หนังสือภาพ (Picture Book) หมั่นชวนลูกดูหนังสือภาพ เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นสายตาและการมองแล้ว ยังช่วยให้เขาได้เรียนรู้ภาษา เรียนรู้สิ่งรอบตัวผ่านหนังสือภาพได้อีก

7. การเล่านิทานให้ลูกฟัง จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของภาษาและการสื่อสาร กระตุ้นการคิด จินตนาการ สมาธิ และที่สำคัญทำให้เขารู้ว่าเรารักเขา ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย อบอุ่น

8. ร้องเพลงกล่อมลูก เสียงสูงๆ ต่ำๆ แถมมีจังหวะด้วยช่วยกระตุ้นสมองได้ดี พัฒนาการของภาษา สมาธิ การคิด ความจำจะถูกกระตุ้นจากเสียงเพลง ข้อสำคัญยังตอกย้ำว่าเรารักเขา

9. หาของเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ของเล่นที่ช่วยพัฒนาความคิด จินตนาการ ฝึกความอดทน ฝึกการแก้ปัญหามาให้ลูกเล่น ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงหรือมีกลไกซับซ้อน ขอเพียงช่วยสร้างสิ่งที่กล่าวไว้ให้ลูกเราได้ก็พอ

10. การโอบกอด สัมผัส ลูบผมหอมแก้ม ดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ช่วยกระตุ้นการหลั่ง Nerve Growth Factor ซึ่งจะไปกระตุ้นสมองให้มีพัฒนาการและเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ข้อสำคัญคือส่งสัญญาณให้เขารับรู้ว่าเรารักเขา

11. เวลาลูกร้อง ตอบสนองให้ไว เพราะเด็กทุกคนต้องการความปลอดภัย เมื่อเขารู้สึกว่าตนเองปลอดภัย สมองของเขาก็จะพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย สมองจะพัฒนาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหนีภัยเท่านั้น

12. การนวดตัว เวลาที่เด็กเครียดช่วยให้เด็กผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี เวลาเขาไม่สบาย เวลาที่เขาเสียใจ ลองช่วยนวดก็น่าจะดี อย่าลืมว่าเวลาเด็กเครียดสมองของเขาจะไม่พัฒนา

13. สร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ปลอดภัย เพื่อให้เขาได้สำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างอิสระ โดยที่เราไม่ต้องกังวล หรือต้องคอยห้ามปราม สมองของเด็กเติบโตเพราะการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ปลั๊กไฟ ของมีคม ของที่จะทำให้เกิดอันตราย ต้องแยกออกไป

14. ทำความเข้าใจพื้นอารมณ์ (Temperament) ของลูกเพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนขี้โมโห บางคนขี้อาย บางคนกล้าที่จะแสดงออก ยอมรับความเป็นตัวเขาแล้วค่อยๆ พาเขาพัฒนาตนเองไปสู่สิ่งที่ทุกคนยอมรับ การฝืนและบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการทันทีจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และไม่สามารถที่จะเรียนรู้สิ่งที่เราอยากให้เป็นได้

15. มีความคงเส้นคงวา ตอบสนองต่อเด็กอย่างชัดเจนและในทัศนะท่าทีแบบเดิมต่อพฤติกรรมแบบเดิมของเด็ก ความคงเส้นคงวาของเราจะทำให้เด็กสามารถคาดการณ์สิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่สับสน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของเขา

16. “จับถูก” อย่า “จับผิด” เพราะมนุษย์พัฒนาได้ดีจากจุดแข็ง ให้รางวัลในสิ่งที่เขาทำได้และเราอยากให้ทำและต้องไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เขายังทำไม่ได้

17. เป็นต้นแบบในการแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ลูกเห็น และในจังหวะที่เหมาะที่ควร การสอนให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสอนได้ด้วยการทำให้เห็น ไม่ใช่สอนด้วยคำพูด

18. ให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ เช่น เล่นกองทราย เล่นน้ำ (เวลาอาบน้ำ) เพราะช่วยบ่มเพาะสมองส่วนจินตนาการ

19. ทำตัวของเราให้สนุกไปกับกิจกรรมของลูก เพราะการช่วยบอกเขาว่า “เรื่องของหนู น่าสนใจจริงๆ” ทำให้เขาเกิดความมั่นใจ ซึ่งจะเป็นแรงเสริมต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก

20. ทำทุกอย่างที่ว่ามาทั้งหมดด้วยความรัก และความเข้าใจในตัวเขา อย่าเอาลูกไปเทียบกับคนโน้นคนนี้ เพราะเขาก็คือเขา ไม่มีทางที่จะเหมือนคนอื่นไปทั้งหมด

หวังว่าคงช่วยให้พ่อแม่เกิดความสบายใจว่า การพัฒนาสมองลูกการช่วยให้สมองของลูกมีความสดใสกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลานั้น ไม่ใช่เรื่องยากขอเพียงเราเข้าใจหลักธรรมชาติ ของสมองเท่านั้นเอง

ที่มา: www.momypedia.com

ความเข้าใจผิดเรื่องนมแม่และอาหารของแม่หลังคลอด

1) แม่ให้นม ไม่ต้องทานมากๆ เพื่อบำรุงน้ำนม!
แม่จะอ้วน น้ำหนักจะไม่ลดซะที
แต่ให้คุณแม่ทานพอเหมาะ ทานมากขึ้น 500 แคลอรี่ ซึ่งเท่ากับ ก๋วยเตี๋ยว 1 ชามต่อวันเท่านั้น
เราทานเพื่อบำรุงตัวเอง ไม่ใช่บำรุงน้ำนมค่ะ
ใครที่ทานมากๆ และคิดว่าจะบำรุงน้ำนม ระวังจะลดไม่ลงนะคะ

ร่างกายจะดึงสารอาหารจากร่างกายของแม่เพื่อสร้างนมแม่
ถ้าแม่ทานอาหารไม่ครบหมู่ แม่จะโทรมและขาดอาหาร
น้ำนมแม่จะดีพร้อมเสมอนะคะ
ถ้าแม่ขาดอาหาร อดอาหาร น้ำนมแม่จะดีเสมอ แต่ร่างกายจะผลิตน้ำนมน้อยลงเพื่อปกป้องแม่ไม่ให้ขาดอาหารไปมากกว่านี้ค่ะ

2) แม่ไม่ต้องทานมากๆ เพื่อให้มีน้ำนม
ตามที่ได้นำเสนอไปเมื่อหลายวันก่อน กลไกการสร้างน้ำนมอยู่ที่การดูดกระตุ้น
ไม่เกี่ยวข้องกับการกิน กระเพาะอาหารไม่ช่วยผลิตน้ำนมค่ะ

แม่ที่กินมากๆ บำรุงแต่"ของดี" จะ "โชคร้าย" และไม่มีน้ำนมเลยถ้าไม่ให้ลูกดูด
แต่แม่ที่ทานอาหารครบหมู่ปกติทั่วไป จะมีน้ำนมมากสุดๆ ขอเพียงให้ลูกดูดมากๆ/หรือมีวินัยการปั๊มถ้าลูกไม่ดูดเต้าค่ะ

แม่ให้นมบุตร น้ำหนักจะลดเร็วมากโดยไม่ต้องอยู่ไฟ ไม่ต้องพึ่งยาใดๆ ค่ะ
วันหนึ่งแม่ให้นมจะเผาผลาญเทียบเท่าไปวิ่งจ๊อกกิ้ง 1 ชม. นะคะ
(เหนื่อยจะตาย สู้เรานอนให้นมเฉยๆ ไม่ได้เลย สบายกว่าเยอะ)

แต่เราต้องไม่ตามใจปาก ไม่ทานของหวานขนมนมเนย ของจุบจิบ หรือขนมกะทิบ่อยๆ
น้ำหนักจะไม่ลดค่ะ
แถมเต้านมตันง่าย นมแข็งกลายเป็นหิน ลูกแพ้โปรตีนนมเนยผ่านนมแม่ได้อีก
กินพอดีๆ ทานอาหารครบหมู่ ทานผักผลไม้ดีที่สุดนะคะ ผิวลูกและแม่จะสวยมากค่ะ

ที่มา: นมแม่ แบบแฮปปี้

เกณฑ์น้ำหนักของลูกโดยคร่าวๆ

1 สัปดาห์แรก น้ำหนักจะลด 10% ของนน.แรกเกิด
ครบ 2 สัปดาห์ น้ำหนักจะเท่านน. แรกเกิด
น้ำหนักลูกจะขึ้นประมาณ 500-1000 กรัมต่อเดือนนะคะ

พอครบ 5 เดือน ลูกจะหนักเป็น 2 เท่าของแรกเกิด
หนักเป็น 3 เท่าของแรกเกิดตอน 1 ปี
และจะหนักเป็น 4 เท่าของแรกเกิดตอน 2 ขวบค่ะ

ถ้าแรกเกิด หนัก 2,500 กรัม
1 สัปดาห์แรก นน. ลด 250 กรัม **เป็นปกติ**
ครบ 2 สัปดาห์ นน. จะขึ้นมาเป็น 2,500 กรัม ไม่ใช่ นน. ไม่ขึ้นนะคะ
ให้กินบ่อยๆ 8-10 มื้อต่อวัน อย่าจำกัดเวลาค่ะ

เกณฑ์น้ำหนักตอน 5 เดือนคือสองเท่า = 5 กก.
(2,500 x 2 = 5,000 กรัม)
หลัง 6 เดือน ถ้าเริ่มซีด แสดงว่าต้องเพิ่มธาตุเหล็กในอาหารเสริม เช่น ไข่แดง ตับ ผักสีเขียวเข้ม

ตั้งเป้าว่า 1 ขวบจะหนักประมาณ 7.5 กก. ก็คือ 3 เท่าของแรกเกิดนะคะ
(2,500 x 3 = 7,500 ค่ะ)
หลังจากนี้ถัา นน. ยังต่ำกว่า 3 เท่า ต้องเพิ่มน้ำหนักด้วยการให้ทานข้าว 3 มื้อเป็นหลัก ไม่ทานนมมากๆ แล้วค่ะ

ที่มา: นมแม่ แบบแฮปปี้

ลูกดื้อ ทำอย่างไรดี ใช้วิธีขู่ดีไหม

"ลูกชายวัย 2 ขวบครึ่ง มีปัญหาเรื่องพูดอะไรก็ไม่เชื่อ คุณแม่ห้ามอะไรไม่ค่อยฟัง ก็เลยต้องใช้วิธีการงัดสิ่งที่เขากลัวขึ้นมาขู่จึงจะยอมเชื่อ เช่น เดี๋ยวเรียกเสือมานะ เรียกหมามากัดนะ แต่คุณแม่ก็กังวลว่าจะเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม อยากถามคุณหมอว่าจะมีวิธีอะไรดีกว่านี้ในการห้ามปรามลูกไหมคะ"

การขู่เป็นวิธีที่ง่ายในการทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้บ้าง แต่จะไม่ได้ผลถาวร และ มีผลเสียตามมา เช่น

1.ลูกจะมีพัฒนาการด้านภาษาไม่ดี เพราะสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารกับลูก จะช่วยพัฒนากระบวนการทางความคิดให้กับลูก ถ้าการบอกเหตุและผลสอดคล้องกัน จะทำให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีกว่า พัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ก็จะดีตามไปด้วย เนื่องจากการที่ลูกได้เรียนรู้ว่าหากทำหรือไม่ทำแบบนี้ ผลที่เกิดตามมาจะเป็นอย่างไร จะช่วยให้ลูกเรียบเรียงความคิด และสื่อสารออกมาได้ดีกว่าการที่ได้รับข้อมูลแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น ถ้าลูกดื้อไม่ยอมกินข้าว แล้วคุณแม่บอกว่า จะเรียกเสือมากัด แทนที่จะพูดว่า ถ้าลูกไม่กิน ลูกก็จะหิว เพราะลูกก็จะไม่ได้กินอะไรอีก จนกว่าจะถึงมื้อต่อไป ลูกก็จะงงว่า ไม่กินข้าว แล้วเสือจะมากัดได้ยังไง เมื่อเหตุและผลไม่สอดคล้องกัน ลูกก็ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

2.ทำให้ลูกเป็นคนขี้กลัว วิตกกังวลได้ง่าย เช่น “ถ้าซน จะให้หมอฉีดยาเจ็บๆ” “ถ้าไม่ยอมนอน ผีจะมาจับตัวไป” เหล่านี้จะทำให้ลูกกลัวหมอแบบไม่มีเหตุผล หรือ ทำให้ลูกกลัวความมืด ไม่ยอมนอนยิ่งกว่าเดิม เพราะกลัวว่าผีจะมาจับตัวไปจริงๆ

3.ถ้าคำขู่นั้นไม่เป็นจริง ลูกก็ไม่เชื่อถือพ่อแม่ ไม่สนใจคำขู่อีกต่อไป

4.คำขู่อันตราย เช่น “ถ้าทำแบบนี้ จะไม่รักนะ” ห้ามใช้เด็ดขาด เพราะเป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจลูก ยิ่งใช้บ่อยๆ จะทำให้ลูกเชื่อว่าพ่อแม่ไม่รัก กลายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสุขก็จะยิ่งมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์มากขึ้น หรือ ดื้อมากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องการทดสอบว่า ที่จริงแล้วพ่อแม่ยังรักเขาอยู่หรือเปล่า

ต่อไปนี้ คือ วิธีการที่ใช้ได้ผลมากกว่า

1.พูดชมเชยเวลาลูกมีพฤติกรรมที่ดี เช่น "หนูน่ารักมากๆ เวลาที่หนูไม่ตะโกน” “ลูกเก่งมากที่กินผักวันนี้”

2.เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น การเข้าคิวซื้อกาเร็ตป๊อปคอร์น/คริสปี้ครีมไม่แซงคิว การผลัดกันไม่แย่งกันเวลาเจอของแบรนด์เนมลดราคา การรอคอยอย่างอดทนไม่โวยวายเวลาต้องรออะไรนานๆเช่นเวลารอตรวจที่รพ. เป็นต้น

3.บอกผลตามมาที่เป็นจริง ซึ่งอาจเป็นการให้รางวัล ทำสิ่งที่ลูกชอบ หรือ การงดของที่ลูกชอบ เช่น "ถ้าลูกไม่เก็บของเล่นให้เรียบร้อย แม่จะเก็บแล้วหนูจะไม่ได้เล่นอีก 3 วัน” “ถ้าลูกแบ่งของให้น้องเล่น วันนี้แม่จะอ่านนิทานให้ฟังเพิ่มขึ้นอีก 1 เรื่อง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้จริงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้พ่อแม่เป็นคนที่เชื่อถือได้ในคำพูด

4.ไม่พูดว่า “จะไม่รักลูก” ให้พูดว่า “แม่รักลูก แต่แม่เสียใจที่ลูกไม่เชื่อฟังแม่” “แม่รักลูก แต่แม่ไม่ชอบเวลาที่ลูกดื้อกับแม่” “แม่รักลูก แต่ถ้าลูกทำผิด แม่ก็ต้องลงโทษลูก"

ปล.1 ป๊อบคอร์น คริสปี้ครีม เป็นอาหารกลุ่มเสี่ยง มีเนยนมชีส กินแล้วแพ้ได้ และ อ้วนด้วยค่ะ หญิงตั้งครรภ์และคุณแม่ให้นมแม่ไม่ควรกิน และคุณพ่อก็ไม่ควรกินยั่วคุณแม่ด้วย เพื่อไม่ให้คุณแม่ตบะแตก

ปล.2 คุณแม่ให้นมแม่ สามารถซื้อของแบรนด์เนมดีๆได้บ้าง เพราะมีเงินเหลือจากค่านมผง และ ค่ารักษาพยาบาลเวลาลูกเจ็บป่วยปีละหลายหมื่นบาท

Credit: สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

Wednesday 8 January 2014

ฝากเลี้ยงเนอสเซอรี่ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง

"มีความจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับเนิร์สเซอรี่ในช่วงกลางวัน จะเริ่มฝากได้ตั้งแต่กี่เดือน มีหลักเบื้องต้นในการเลือกเนิร์สเซอรี่และต้องเตรียมระวังเรื่องการเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง"

ในปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสถาบันพัฒนา สำหรับเด็กเล็ก วัยที่ยังไม่ได้เข้าเรียน หรือที่เรียกกันว่าเนิร์สเซอรี่เกิดขึ้นมากมาย คำถามที่เกิดขึ้นคือ มีความจำเป็นที่ลูกต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนหรือไม่ คำตอบคือ ลูกจำเป็นต้องได้รับการเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียนแน่นอนค่ะ แต่จะเตรียมโดยใครและทำอย่างไร ตรงนี้มีคำแนะนำค่ะ

ครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วย ใครเป็นผู้ดูแลลูก ไว้ใจได้หรือไม่ เพราะมีกรณีที่พี่เลี้ยงอยู่กับเด็กตามลำพัง แล้วทำร้ายเด็กหรือเกิดอุบัติเหตุทำเด็กหล่นแล้วไม่ยอมบอกพ่อแม่ และผู้ดูแลมีความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กวัยนี้เป็นอย่างดีหรือไม่ มีการกระตุ้นพัฒนาการหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สมวัยหรือไม่ ถ้ามีผู้ดูแลที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว และลูกก็ดูมีความสุขดี ให้ลูกอยู่บ้านดีที่สุด รอเข้าเรียนตอนอนุบาลทีเดียวเลย ที่อายุประมาณ 3 ขวบ เพราะโอกาสติดเชื้อโรคจะน้อยกว่าหรือถึงติดเชื้ออาการก็มักรุนแรงน้อยกว่าเด็กเล็กมากๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องวิชาการจะสู้เพื่อนไม่ได้ เพราะถึงเข้าเรียนช้ากว่า แต่ถ้าวัยพร้อม เดี๋ยวเดียวก็เรียนทันกันค่ะ

นโยบายการดูแลลูกของผู้ดูแลไม่ตรงกับใจของพ่อแม่ เช่น ผู้ดูแลอาจตามใจลูกมากเกินไปทำให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง ให้ลูกกินขนมหวานทั้งวัน ให้ลูกดูทีวีหรือเกมส์ ครั้นพ่อแม่จะขัดแย้งไม่ให้ทำ ก็อาจเกิดอาการงอนจากผู้ดูแล

ลูกอยู่ในวัยซน ปีนป่าย วิ่งเล่น ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้หากไม่มีใครคอยประกบวิ่งตาม แต่ผู้ดูแลอาจมีอายุมาก เดินตามไม่ไหว หรือถ้าไหวก็อาจเกิดปัญหาเหนื่อยมากเกินไปจนอาจเป็นอันตรายต่อหัวใจของผู้ดูแล

บางครั้งผู้ดูแลลูกที่บ้าน อาจติดธุระหรือเจ็บป่วยกระทันหัน ทำให้พ่อแม่ต้องลางานเพื่อดูแลลูกเอง แต่หากเป็นสถานเลี้ยงเด็ก การที่ผู้ดูแลหนึ่งคนป่วย หยุดงานไป ก็ไม่กระทบกับระบบงาน เพราะหาคนมาแทนได้เพียงพอ และทันท่วงที

บางครั้งเด็กเป็นลูกคนเดียว ไม่มีคนเล่นด้วย เด็กๆแถวบ้านก็ไม่มี ญาติพี่น้องก็ไม่มี มีแต่ผู้ใหญ่ ทำให้ขาดทักษะในการเล่นกับเด็กคนอื่น หรือบางคนแทบไม่เจอใครเลยในแต่ละวัน เจอแต่พ่อแม่ แม้แต่ญาติผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยเจอ จะทำให้เป็นเด็กกลัวคนแปลกหน้า เข้ากับคนอื่นได้ยาก กรณีนี้การพาลูกไปเข้ากลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน หรือสถานพัฒนาเด็กเล็ก ก็อาจช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับผู้อื่นได้ดีขึ้น หมอเคยเจอเด็กคนหนึ่ง คุณแม่บอกว่าอยู่บ้านแล้วชอบร้องไห้งอแง ไม่เอาใครเลย ต้องให้แม่อุ้มคนเดียว แม่ทนไม่ไหวจึงลองส่งไปเข้าเนอสเซอรี่ ปรากฎว่ากลายเป็นเด็กอารมณ์ดีขึ้นมาก เก่งขึ้นหลายอย่าง กินข้าวเองได้ เข้าห้องน้ำเองได้ วิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะอยู่บ้านคงเหงาและเบื่อ แต่พอไปเจอเด็กคนอื่นวัยเดียวกัน มีเพื่อนเล่นก็เลยมีความสุขขึ้น

อยู่บ้านแล้วสบายเกินไป มีคนทำให้ทุกอย่าง แทบไม่ต้องกระดิกตัวทำอะไรเองเลย ทำให้ขาดโอกาสพัฒนาความสามารถ บางคนจะเข้าเรียนแล้ว ยังกินข้าวเองไม่เป็น ยังใช้ห้องน้ำไม่เป็นเพราะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา ขาดระเบียบวินัย เช่น เล่นของแล้วไม่เก็บ รอคิวไม่เป็น บางคนพ่อแม่ฝึกเองเท่าไรก็ไม่สำเร็จ แต่พอส่งไปเรียนปุ๊บ ทำได้เลย เพราะเด็กบางคนอาจต้องอาศัยผู้อื่นในการช่วยฝึกฝนให้ เนื่องจากอาจเกรงใจครู กลัวครูไม่รัก คุณครูจะชมว่าเรียบร้อยน่ารักมากเวลาอยู่ต่อหน้าครู แต่พออยู่บ้านจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะรู้ว่ายังไงพ่อแม่ก็รักและตามใจอยู่แล้ว

เด็กบางคนมีปัญหากินข้าวยาก ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กที่เป็นลูกคนเดียว เวลากินก็ไม่มีคนอื่นร่วมกินเป็นเพื่อน ทำให้ไม่มีบรรยากาศการกิน และไม่ได้กินพร้อมพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ จึงขาดโอกาสเลียนแบบการกระทำ ใช้วิธีป้อนให้กินตลอด มักล่อหลอกให้กินโดยเปิดทีวีให้ดูไปด้วยกินไปด้วย แต่หมอก็จะคอยห้ามว่าอย่าให้ลูกดูทีวีเยอะ ก็เลยไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรให้ลูกกินเก่งขึ้น คำแนะนำคือให้ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ คือ พยายามลองให้กินเอง กินพร้อมหน้าพร้อมตา เปลี่ยนเมนูเป็นสไตล์ที่เด็กอยากกิน เช่น อาหารคล้ายของผู้ใหญ่ (ไม่ใช่ข้าวตุ๋นเละๆแบบเดิมๆ) สีสันและการตกแต่งดึงดูดตา (อาจต้องไปซื้อหนังสือเมนูลูกรักมาลองทำดู) ลองให้ลูกได้ช่วยเตรียมอาหาร ช่วยจัดโต๊ะกินข้าว จะได้รู้สึกมีส่วนร่วม ปิดทีวี แต่อาจทำบรรยากาศคล้ายปิคนิค ลูกสาวของหมอเอง เดิมเป็นเด็กที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องกินเท่าไร ไม่กระตือรือร้นเวลาเรียกให้กินหรือลองของใหม่ๆ หุ่นเธอก็เลยผอมบาง ต่อมาเมื่อลูกสาวได้ลองเรียนวิธีทำกับข้าว (cooking class) คือว่าแม่สอนเองไม่ได้ เพราะแม่ทำกับข้าวไม่เป็น ต้องให้ไปเรียนกับคุณครูแทน ก็พบว่าลูกเริ่มชอบที่จะลองกินของแปลกๆใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกิดจากฝีมือเค็มขึ้มือของเธอเอง เธอกินได้หมดเลย โดยไม่ต้องคะยั้นคะยอ แต่อย่างไรก็ดี เธอก็ยังมีหุ่นที่เป็นนางแบบอยู่นั่นเอง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่หมอกังวล แค่ต้องการให้ลูกสนุกกับการกินมากขึ้น และลูกรู้จักวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ รวมถึงประโยชน์ของอาหารแต่ละอย่างที่ได้กิน

เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการที่ช้ากว่าวัยเล็กน้อย เช่น อายุขวบครึ่งแล้วแต่ยังไม่เริ่มเดิน หรืออายุจะสองขวบแล้วแต่ยังไม่เริ่มพูดเลย อาจเป็นเพราะขาดโอกาสฝึกฝนหรือไม่มีคนคอยกระตุ้นพัฒนาการ เช่น อาจอุ้มเด็กมากเกินไป จนเท้าไม่ได้แตะพื้นเลย จึงทำให้เดินช้า ทั้งๆที่คุณหมอประเมินดูแล้วกล้ามเนื้อหรือระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกไม่ได้มีปัญหา ส่วนเด็กที่พูดช้านั้น อาจเป็นเพราะรู้ใจเด็กมากเกินไป รู้ความต้องการของเด็กจนเด็กแทบไม่ต้องเอ่ยปากเลย หรือเป็นเพราะไม่ค่อยได้พูดคุยกับเด็ก ให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงต่างด้าว หรือให้ดูทีวีมาก เหล่านี้จะทำให้เด็กพูดช้า ทั้งๆที่ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร (ไม่ได้เป็นเพราะหูไม่ได้ยิน โรคออทิสติก ปัญญาอ่อน) กรณีเหล่านี้อาจดีขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว หากมีการกระตุ้นพัฒนาการที่ถูกวิธีจากผู้มีความรู้ ความชำนาญ ซึ่งอาจพบได้จากสถาบันฝึกต่างๆทั้งภาครัฐบาลหรือเอกชน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองฝึกเองที่บ้านก็ได้หากทราบวิธีการและมีเวลาเพียงพอ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจจะส่งลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถาบันพัฒนาเด็กเล็ก สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาเพื่อการตัดสินใจเลือก ได้แก่

ค่าใช้จ่าย เหมาะสมกับเศรษฐานะ

สถานที่ ใกล้บ้าน หรือที่ทำงาน เหมาะแก่การรับส่ง เดินทางสะดวก ลูกไม่เหนื่อยเกินไปกับการใช้เวลาในการเดินทาง

นโยบายตรงใจกับพ่อแม่ เช่น สนับสนุนการให้นมแม่ โดยยินดีป้อนนมลูกแบบจิบดื่มจากถ้วยแทนการให้ดูดจากขวด หากแม่ร้องขอ เนื่องจากกลัวลูกไม่ยอมดูดจากเต้า หากติดใจขวด ไม่ให้ขนมหวานที่ไม่มีประโยชน์ แต่เน้นการให้ผักหรือผลไม้เป็นอาหารว่าง

คุณภาพ สถานที่ - ปลอดภัย (มีประตูที่เด็กจะเดินออกไปเองไม่ได้ ทางหนีไฟ ระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นมั่นคง มีที่จอดรถห่างจากที่เล่นของเด็ก ไม่แออัด มีการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี ถ้าเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ควรมีห้องแยกเวลาเด็กป่วย มีของเล่นที่หลากหลายเหมาะกับแต่ละวัยเพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอแก่เด็ก ทางโรงเรียนควรมีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ ในกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแก่ลูก มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกรณีคนแปลกหน้ามาลักพาเด็ก

บุคลากร - จำนวนเพียงพอกับจำนวนเด็ก จะได้ดูแลเด็กได้ทั่วถึง เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม รักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็ก ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตหรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีโปรแกรมฝึกพัฒนาการที่แน่นอนสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุ หากมีใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการรวมถึงหลักสูตรที่มีมาตรฐานด้วย จะดีมากขึ้น (แต่แพงขึ้นแน่นอน) ไม่ควรมีทีวีให้เด็กดูเพราะเป็นการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง มีผลเสียจากการดูทีวีมากมาย หากใช้ทีวีเลี้ยงเด็ก ให้ถือว่าเป็นคนดูแลที่ประสิทธิน้อย

ระบบการดูแลสุขภาพเด็ก - มีห้องแยกเด็กป่วยหรือไม่ให้มาเรียนจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ มีความรู้ในการสังเกตอาการเจ็บป่วยของเด็ก เช่น เมื่อเด็กมีไข้ อาเจียน ซึมลง กินน้อยลง ไม่ค่อยเล่น มีตุ่มหรือผื่นขึ้นตามตัว หรือในปาก เพื่อจะได้รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด และรีบโทรศัพท์ตามผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้านหรือพาไปตรวจที่โรงพยาบาล ส่วนในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยเฉียบพลันและจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาทันที ทางโรงเรียนควรมีระบบการนำส่งให้เด็กได้รับการตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้ปกครอง เพราะอาจไม่ทันการณ์ เน้นเรื่องการล้างมือบ่อยๆ โดยการมีก๊อกน้ำจำนวนเพียงพอ หรือมีอัลกอฮอล์เหลวหรืออัลกอฮอล์เจลเอาไว้ถูมือบ่อยๆ ก่อนที่จะเตรียมอาหารให้เด็ก หลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการเช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรืออาเจียนของเด็ก หลังการอุ้มหรือสัมผัสเด็กแต่ละคน ก่อนที่จะสัมผัสเด็กคนต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (สำคัญมากค่ะเรื่องการล้างมือ)

มีห้องเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ อาหารและของว่างถูกหลักโภชนาการและน่าหม่ำ การใช้ส้วมและการกำจัดสิ่งปฏิกูล การแยกข้าวของเครื่องใช้เด็กแต่ละคนไม่ปะปนกัน มีการทำความสะอาดห้องเรียน อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นเป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง อยู่ในที่เห็นได้ง่าย

หากเป็นไปได้ ควรให้ลูกรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อซึ่งมักระบาดตามแหล่งที่มีเด็กอยู่รวมกัน นอกเหนือไปจากวัคซีนบังคับ เช่น โรต้าไวรัส ไข้หวัดใหญ่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากฮิบและไอพีดี โรคสุกใส โรคตับอักเสบเอ โรคทัยฟอยด์

เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่ได้อย่างสบายใจ

Credit: FB page สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

Monday 6 January 2014

ปัญหาลูกน้อยขี้วีน

ความจริงเรื่องความโกรธ อารมณ์ร้าย ขี้โมโหก็เป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้จะเป็น แต่จะมากจะน้อยก็แล้วแต่พื้นอารมณ์ของเด็กและการเลี้ยงดู

เด็กวัยนี้อาจจะแสดงอารมณ์โกรธหรือโมโหได้ง่าย เพราะอยู่ในช่วงที่ชีวิตเปลี่ยนแปลง เช่น บางคนต้องไปโรงเรียนทั้งๆ ที่ยังไม่อยากไป หรือหนูบางคนอาจจะรู้สึกถูกละเลยจึงต้องเรียกร้องความสนใจด้วยการโกรธอยู่เสมอจนติดเป็นนิสัย ซึ่งถ้าเจออารมณ์ของลูกแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องมีวิธีรับมือ และช่วยลูกให้ค่อยๆ ปรับอารมณ์ เรียนรู้เรื่องอารมณ์ของตนเอง และรู้จักควบคุมอารมณ์ให้กลับมาเป็นปกติ

1) ไม่ควรนิ่งดูดายบนอารมณ์ร้ายของลูก

พ่อแม่บางคนเบื่อหน่ายลูกที่ขี้วีน พอลูกอาละวาดก็เลยใช้วิธีไม่สนใจทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งวิธีนี้ลูกจะแสดงอารมณ์โกรธบ่อยๆ จนเป็นนิสัย กลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ขี้หงุดหงิด และแก้ไขปัญหาด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลต่อไป

2) อย่าตำหนิลูกรุนแรงเวลาลูกแสดงอารมณ์โกรธ

การตำหนิทำให้หนูน้อยรู้สึกผิด ยิ่งรู้สึกผิดยิ่งกราดเกรี้ยว หงุดหงิดก็แย่อยู่แล้วและยังถูกดุว่าต่ออีก ลูกจะยิ่งรู้สึกไม่ดีและจะกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสุขภาพจิตเลย การที่ให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมานั้นเป็นการช่วยเด็กระบายความรู้สึกที่ไม่ดีออกมา ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า ไม่ผิดที่จะโมโห หรือ โกรธ แต่ลูกต้องแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสม ซึ่งพ่อแม่ต้องช่วยเหลือเด็กให้รู้จักวิธีแสดงออกที่เหมาะสม

ข้อแนะนำ : เวลาที่ลูกโกรธ แสดงว่าลูกรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ คุณพ่อคุณแม่ควรจะเป็นที่พึ่งพิงที่หนักแน่นมั่นคง กอดลูกไว้ และเมื่อลูกสงบจึงอธิบายถึงเหตุและผลให้ลูกฟังอย่างนุ่มนวล ด้วยวิธีที่ไม่ใช่การตำหนิดุด่า

3) อย่าแก้ปัญหาด้วยการตามใจเด็ก

ไม่ใช่จะตามใจทุกเรื่องจนลูกติดเป็นนิสัย เพราะลูกจะเรียนรู้ว่าต้องวีนจึงจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล

อันไหนไม่ได้ก็ต้องบอกลูกให้ชัดเจนว่าไม่ได้ ถึงหนูจะร้องไห้ แม่ก็ไม่สามารถให้ลูกได้ วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การให้สิ่งที่เขาต้องการเสมอไป

แต่ควรใช้วิธีงเบี่ยงเบนความสนใจ และสุดท้ายเมื่อลูกสงบจึงพูดคุยกับลูกถึงเรื่องที่ผ่านมาว่าทำไมจึงไม่ได้ และการที่ลูกอาละวาดแบบนี้ไม่ดียังไง ทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจอย่างไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะขัดใจไปทุกเรื่องนะคะ ให้ได้ก็ให้ ให้ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร ซึ่งหนูน้อยก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าเขาจะไม่ได้ในทุกสิ่งที่ตัวเองต้องการตลอดไป และการแสดงอารมณ์โกรธเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการก็ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาเสมอไป

4) เทคนิคสยบอารมณ์ร้ายของลูก

รับฟังลูกเสมอ เวลาโกรธ ใครๆ ก็อยากจะระบายออกมาว่าไม่พอใจอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรจะฟังลูกนะคะ ถึงแม้หนูจะตะโกนเสียงดังแค่ไหน ก็ต้องรับฟังเขาเสมอ

สัมผัสรักบรรเทาโกรธ กอดลูกไว้ ลูบหลังไหล่ จับมือลูกไว้ดีกว่าค่ะ การที่มีคนมาสัมผัสลูกจะรับรู้ถึงความอบอุ่นใจ และมั่นคงจากพ่อแม่ การที่ลูกอาละวาดนั่นเพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งหนูน้อยก็รู้สึกตกใจนะคะ ที่อารมณ์ของตัวเองอยู่เหนือการควบคุมอย่างนี้ การสัมผัสจะช่วยคลายอารมณ์ที่กำลังไม่มั่นคง และอยู่เหนือการควบคุมของลูกให้สงบลงได้

ระบายอารมณ์ด้วยศิลปะ ลองหาสี กระดาษให้เขาได้ระบาย วาดรูป หรือเขียนอะไรก็ได้ตามใจ บอกลูกว่าหนูโกรธอะไร หงุดหงิดเรื่องอะไร หรือว่าอยากได้อะไรลองวาดเป็นรูปให้คุณแม่ดูหน่อยสิ ให้แม่ได้รู้ว่าหนูอยากได้อะไร เสร็จแล้วก็เอารูปวาดนั้นมานั่งคุยกับลูก ว่าอันนี้คืออะไร ที่หนูวาดอย่างนี้ต้องการอะไร

การได้ระบายโดยการวาดออกมา และมีคุณแม่มาสนใจถามไถ่ เป็นการบำบัดอารมณ์อย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาชอบใช้กับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำมาใช้ กับการแก้ไขอารมณ์ร้ายของลูกได้ค่ะ

ให้เล่นอะไรที่ใช้แรงเยอะๆ หาของเล่นที่ต้องทุบๆ ตีๆ หรือบีบๆ ปั้นๆ เช่น กลองเด็กเล่น แป้งโด ดินน้ำมัน ให้ลูกได้เล่นแบบใช้แรงเยอะๆ สักพัก ถือเป็นการระบายออกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวเดียวแกก็จะลืมความหงุดหงิดอารมณ์ร้ายที่ออกฤทธิ์ไว้อย่างแน่นอน

ให้อยู่ในที่โล่งๆ ถ้าลูกอาละวาดไม่ควรจะจับขังในห้องแคบๆ เหมือนที่ในหนังชอบทำนะคะ เพราะจะทำร้ายจิตใจหนูมาก และที่แคบๆ จะไม่ช่วยให้อารมณ์ลูกผ่อนคลายลงได้เลย แต่ควรหาที่โล่งๆ เช่น พาออกไปที่สนามหน้าบ้าน ที่โล่งๆ จะช่วยให้อารมณ์ของหนูผ่อนคลายได้มากกว่าค่ะ

สงบสยบโกรธ ถ้าทำทุกอย่างแล้วหนูก็ยังไม่หยุดอาละวาด คุณพ่อคุณแม่ควรจะนิ่งสักพัก ปล่อยให้อารมณ์ของลูกลดลงเอง แต่อย่าไปอาละวาดกลับนะคะ เพราะยิ่งจะเหมือนเอาน้ำมันราดลงไปบนกองไฟ

Tips

คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกนะคะ ไม่ควรจะแสดงอารมณ์กราดเกรี้ยวใส่กันในครอบครัว ไม่ควรโกรธหัวเสียใส่ลูกเวลาที่ลูกวีน หรือเวลาอารมณ์เสียแล้วมาลงที่ลูก เพราะหนูน้อยมองดูอยู่ และกำลังเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ทุกขณะจิตค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารดวงใจพ่อแม่
www.kapook.com

Credit: การดูแลเด็ก ปฐมวัย