Sunday 24 November 2013

สอนลูก...รับมือความสูญเสีย ตอนที่ 1

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร ModernMom ฉบับเดือนสิงหาคม 2556 ครับ


...ช่วงเวลาที่เด็กเติบโต อาจพบเจอกับเรื่องราวความสูญเสีย
ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงตาย

เมื่อเด็กต้องพบเจอเรื่องราวเหล่านี้
คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการอย่างไรในการสอนลูกให้รู้จักเรื่องความตาย
และทำใจยอมรับการสูญเสียได้


## เข้าใจการตาย...ที่เป็นเหมือนเรื่องไกลตัว?

เมื่อต้องพูดถึงเรื่องความตายกับลูก คุณพ่อคุณแม่ อาจมีความคิด ความรู้สึกหลายๆอย่างเกิดขึ้น
บางคนรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะไม่รู้ว่าจะพูดแบบไหนให้เหมาะสม และลูกเข้าใจ
บางคนคิดว่าไม่จำเป็นเพราะพูดไปลูกก็คงไม่เข้าใจ จำเป็นต้องรู้เรื่องพวกนี้ด้วยหรือ
รอให้โตน่าจะเข้าใจได้เองได้หรือไม่
บางคนรู้สึกกลัว กังวลใจว่าลูกจะได้รับผลกระทบทางจิตใจ
บางคนคิดว่าเป็นเรื่องอัปมงคลถ้าพูดเรื่องตายกับลูก
จึงเลี่ยงที่จะไม่ตอบกับคำถามของลูกเรื่องนี้

อย่าลืมว่า...ความตาย เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้น
รวมทั้งมนุษย์เรา ที่มีวงจรชีวิตแบบ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
เราจะเห็นภาพการเกิด การเจ็บป่วย ความแก่ชรา ในชีวิตของเราได้อย่างคุ้นเคย
เพราะเป็นสิ่งที่ประสบในชีวิตเราและคนรอบข้างบ่อยๆ
แต่เราลดทอนภาพของการตาย เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก เป็นเรื่องน่ากลัว
เมื่อนึกถึงการตาย เราจะนึกได้แค่ภาพที่โรงพยาบาล วัด หรือสุสานเท่านั้น
ไม่ใช่เรื่องที่สัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน

เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ คนทั่วไปจึงเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องความตาย มองเรื่องความตายเป็นเรื่องไกลตัว

ดังนั้นเมื่อวันหนึ่ง เราต้องเผชิญหน้ากับเรื่องความตาย
เราเองก็ยากที่จะปรับใจ เพราะไม่เคยเตรียมตั้งรับกับเรื่องแบบนี้.....
แล้วลูกของเราล่ะ จะเป็นยังไง?


## ทำความเข้าใจ..กับความเข้าใจเรื่องความตายของลูกน้อย

ความเข้าใจเรื่องการตาย มีอยู่ 4 องค์ประกอบ

1. Irreversibilty ความตายเป็นเรื่อง “ไปไม่กลับ”
ไม่สามารถย้อนคืนหรือฟื้นมาเหมือนเดิมได้
ต่างจากของเล่น ของใช้ ซึ่งเมื่อผุพังเรายังอาจซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้

2. Finality/ Non-functionality ความตายเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต
ซึ่งการใช้ชีวิตและการทำงานต่างๆจะสิ้นสุดลงอย่างถาวร

3. Inevitability/ Universality ความตายเป็นเรื่องสากล
เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

4. Causality ความตายมีสาเหตุการก่อให้เกิดและที่มาที่ไปเสมอ

ตามพัฒนาการด้านความคิด
เด็กในช่วงวัย 3-6 ปี ยังไม่สามารถเข้าใจหลักการดังกล่าวได้ชัดเจน จนกว่าจะอายุประมาณ 9-10 ปี
เพราะเด็กยังเต็มไปด้วยความคิดเชิงจินตนาการ
ยังไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งความเป็นจริงกับจินตนาการได้ทั้งหมด

## ยิ่งปกปิด หรือพูดอ้อมค้อมเกินไป ลูกอาจจะยิ่งสับสนและหวาดกลัวมากกว่าเดิม

น้องก๊อตวัย 5 ขวบ สังเกตว่าแม่ร้องไห้ หน้าตาเคร่งเครียด
เวลาแม่คุยกับพ่อจะกระซิบเบาๆ เหมือนไม่อยากให้ก๊อตได้ยิน
ก๊อตถามแม่ในสิ่งที่ตัวเองสงสัย แม่บอกก๊อตว่า “ไม่มีอะไรจ้ะลูก”
โดยไม่ทราบว่าคุณยายซึ่งใกล้ชิดกับน้องก๊อตเสียชีวิตไปแล้วจากโรคหัวใจเมื่อคืนนี้
ก๊อตยิ่งสงสัย และคิดว่าตัวเองอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่เป็นเช่นนั้น
เป็นเพราะตัวเองดื้อ ซนอย่างที่แม่เคยดุ ก๊อตรู้สึกผิด ซึมเศร้า และไม่ร่าเริงเหมือนเดิม

จนวันรุ่งขึ้น แม่บอกก๊อตว่า
คุณยายไปสวรรค์แล้ว คุณยายแค่นอนหลับไป แล้วจะไม่ตื่นขึ้นมาอีก
คืนนั้น ก๊อตไม่ยอมเข้านอน เมื่อถูกบังคับให้เข้านอน
ก๊อตงอแง อยู่นานกว่าจะหลับได้ เป็นติดๆกันหลายคืน
แม่มารู้ทีหลังว่า เป็นเพราะก๊อตกลัวว่า ถ้านอนแล้วจะไม่ตื่นแบบคุณยาย

การสอนลูกให้รู้จักและเข้าใจเรื่องความตาย
คล้ายๆกับการสอนเรื่องเพศศึกษาตอนลูกเป็นวัยรุ่น
ยิ่งเราปกปิด อ้อมค้อม จะยิ่งทำให้ลูกสงสัย และเข้าใจ(ไปเอง)แบบผิดๆได้

ดังนั้น พ่อแม่ควรคุยกับลูกเรื่องนี้ด้วยท่าทีปกติ ทำให้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเวลาเราสอนลูกเรื่องอื่นๆ

เรามักจะเลี่ยงใช้คำอื่นๆแทนการใช้คำว่า “ตาย” เพื่อความนุ่มนวลขึ้น เช่น ไปสวรรค์, เสีย, สิ้นใจ
ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องถูกผิดอะไรมากมาย
...แต่ระวังว่ายิ่งใช้คำอ้อมๆมากเท่าไหร่ อาจทำให้เด็กเกิดความสับสนมากขึ้นเท่านั้น

ที่มาข้อความ ชมรมจิตแพทย์ เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย

No comments:

Post a Comment