Tuesday 29 October 2013

Overfeeding // กินนมเยอะเกินไป

คือ อาการกินนมเยอะจนมีอาการดังต่อไปนี้

1.นอนร้องเป็นแพะ เป็นแกะ แอะๆๆ แอะๆๆ

2.บิดตัวเหยียดแขนเหยียดขา ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดๆ คล้ายเสียงประตูไม่หยอดน้ำมัน

3.เสียงครืดคราดในคอ ทำให้เสียงคล้ายเสมหะในคอ เนื่องจากนมล้นขึ้นมาที่คอหอยแล้ว

4.แหวะนมหรืออาเจียนนมออกมาทางปากหรือจมูก

5.พุงกางเป็นทรงน้ำเต้าตลอดเวลา ไม่เคยเห็นพุงแฟบเลย

ถ้าใครมีอาการดังกล่าว พบว่านน.จะขึ้นเกิน 35 กรัมต่อวัน หรือ เกิน 1 กก./เดือน

ดังนั้น ใครที่เข้าใจผิดว่าทารกควรมีนน.เพิ่มขึ้นเดือนละโล โปรดเข้าใจใหม่ค่ะ นั่นคือมากเกินไปแล้ว จนทำให้อึดอัด ปวดท้อง โยเย ร้องไห้กวน

นน.ขึ้นปกติคือ
600-900 กรัม/ด.ในช่วงอายุ 0-3 เดือน
450-600. ก./ด. 4-6 ด.
300 ก./ด. 7-12 ด.

ถ้า overfeeding จากนมแม่ ไม่อันตราย เพราะโตขึ้นหุ่นจะผอมเพรียวได้เอง แต่การอาเจียนบ่อยก็ไม่ดีเพราะจะทำให้กรดจากกระเพาะอาหารย้อนออกมาทำให้หลอดอาหารเป็นแผลได้ ดังนั้น ถ้าคุมสถานการณ์การกิน ไม่ให้กินมากเกินไปได้ ก็ควรทำ

วิธีคุมไม่ให้ลูกกินมากเกินไป คือ ให้ประเมินว่าลูกอึครบ 2 ครั้ง โดยที่แต่ละครั้งมีปริมาณอึกว้างเท่ากับแกนของม้วนกระดาษชำระ คือ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 ซม. หรือจำนวนฉี่ครบ 6 ครั้ง ในหนึ่งวัน (24 ชม.) ลูกพุงกางเป็นน้ำเต้าแล้ว ลูกสะอึกบ่อยแล้ว หากลูกร้องทุกครั้งให้ประเมินดูสถานการณ์เหล่านี้ ถ้าพบว่าได้รับนมเข้าไปมากพอแล้ว ให้ใช้วิธีเบี่ยงเบน โดยอุ้มลูก เคลื่อนไหวไปมา ใช้เปลไกว ใช้จุกหลอกได้ทั้งสิ้น ไม่ต้องกลัวติดมือ ติดเปล ติดจุกหลอก เพราะเราจะใช้แค่ช่วงเวลา 3-4 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกปรับตัวกับโลกใบใหม่อยู่ หลังจากนั้นลูกจะเลี้ยงง่ายขึ้นและตะกละน้อยลง เราก็เลิกใช้ ให้เบี่ยงเบนโดยเล่นกับลูก สุดท้ายจริงๆ หากลูกต้องการดูดเต้าให้ได้ ก็ต้องปั๊มนมออกก่อน เพื่อจะได้ไม่ได้รับปริมาณนมเข้าไปมากเกินไป แต่เป็นการดูดเพื่อความพึงพอใจ

แต่การวินิจฉัยไม่ได้ว่าลูกเป็น overfeeding ก็อาจทำให้เกิดผลเสียบางอย่างซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยดังเคสตัวอย่างต่อไปนี้

ทารกวัยเดือนครึ่งกินนมแม่มาตลอด มีปัญหาหายใจครืดคราดเสียงดังมากตอนกลางคืน พ่อแม่พาไปพบหมอมาแล้ว 5 คน วินิจฉัยว่า เป็นหวัด ให้ยากิน ยาหยดจมูก เอ็กซเรย์ปอด และล่าสุดบอกว่าแพ้นมแม่ ให้เปลี่ยนไปกินนมถั่วกระป๋อง คุณพ่อไม่อยากจะเชื่อว่าแพ้นมแม่ ก็เลยพามาปรึกษาป้าหมอ

ตรวจร่างกายพบว่าเป็นเด็กพุงพลุ้ยลักษณะดังรูปประกอบ (แต่ไม่ใช่เด็กคนนี้นะคะ คนนี้เป็นนายแบบ overfeeding อีกคนหนึ่ง) พอถามอาการ 5 ข้อ ก็ถูกหมดทุกข้อ นน.ขึ้นเกินโล เรื่องแพ้อาหารที่ผ่านทางนมแม่ ก็ไม่น่าใช่ เพราะคุณแม่งดอาหารกลุ่มเสี่ยงทั้งนมวัว นมถั่ว ไข่ แป้งสาลี ซีฟู้ดแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากยังไม่ได้คุมการกินไม่ยั้งของลูกนั่นเอง หากคุมให้นน.ไม่ขึ้นเกินโล อาการก็จะหายไปค่ะ

พอทราบคำตอบ พ่อแม่ก็ยิ้มออก พร้อมกับโล่งอก ว่าเกือบไปแล้ว เกือบต้องหยุดนมแม่ เพราะอาการ overfeeding หรือตะกละของลูกน้อยแล้วไหมหล่ะ

From: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=762498290442987&set=a.591395760886575.156913.591075960918555&type=1&theater

Monday 28 October 2013

พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก

เด็กๆเรียนรู้ว่า ควรรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเอง รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง และนึกคิดอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งต่างๆรอบๆตัว โดยเลียนแบบพ่อแม่ทั้งคำพูดและการกระทำ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการสอนสุขนิสัย หรือ พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ แก่ลูก ไม่ใช่วิธีการให้รางวัล หรือ การลงโทษ แต่ให้ใช้วิธีการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นบวก และ การปฏิบัติพฤติกรรมดีเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น ซึ่งจะทำให้ลูกเป็นคนที่มีความสุข ถ้าเดิมคุณมีพฤติกรรมที่ไม่ดีดังต่อไปนี้ การเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก จะส่งผลให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้น และ มีความสุขในชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

นิสัยไม่ดีข้อ 1 : ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป
การแสดงความไม่พอใจในรูปร่างของตัวเองออกมา จะแสดงให้ลูกเรียนรู้ว่า การให้คุณค่าตนเองขึ้นกับ การมีผิวขาวใสวิ้งหรือไม่ หรือ ต้องมีหุ่นผอมเพรียว โดยเสียเงินซื้ออาหารเสริมที่โฆษณาว่า กินแล้วจะผิวขาว หน้าเด้ง หรือ ผอมได้โดยไม่ต้องออกกำลังกาย เด็กๆโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงจะได้รับอิทธิพลความคิดจากคุณแม่ ลูกอาจไม่พอใจรูปร่างตนเองที่เห็นจากกระจก นำไปสู่การให้คุณค่าตนเองต่ำ หรือ ไม่พอใจในรูปลักษณ์ของตนเอง ทำให้ลูกมีปัญหาควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดผิดปกติ หรือ ปัญหาเกลียดการกิน (Anorexia nervosa)

นิสัยไม่ดีข้อ 2 : ใช้การกินเป็นสิ่งระบายความเครียด
ถ้าคุณใช้อาหารเป็นสิ่งชดเชยความทุกข์ใจ ความผิดหวัง ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมนี้ได้ แล้วนำไปสู่ปัญหาโรคอ้วน แต่คุณควรใช้วิธีอื่นในการระบายความเครียด เช่น การปรึกษาเพื่อนฝูง หรือ ไปเดินเล่นผ่อนคลายอารมณ์เครียด

นิสัยไม่ดีข้อ 3 : เล่นไอแพด ไอโฟน สมาร์ทโฟนตลอดเวลา
เด็กที่อยู่หน้าจออิเลคทรอนิคส์มากเกินไป จะมีปัญหาการนอน ปัญหาการเรียน และ น้ำหนักตัวเกิน

นิสัยไม่ดีข้อ 4 : วัตถุนิยม
เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบเล่นแต่งตัวตุ๊กตา แต่อย่าให้ลูกหมกหมุ่นกับกิจกรรมนี้มากเกินไป ควรส่งเสริมให้เล่นอย่างอื่นบ้าง เช่น ออกไปเดินเล่น เล่นกีฬา เพื่อลูกสาวจะได้เรียนรู้เรื่อง ความแข็งแกร่ง พละกำลัง และ ทำให้ลูกเรียนรู้ว่า การออกกำลังกายเป็นวิธีระบายความเครียดและความเหนื่อยล้าที่ดี และ อย่าลืมชมเชยเมื่อลูกแสดงความมีปฏิภาณไหวพริบ หรือ เมื่อลูกมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อย่าเอาแต่ชมว่าลูกสวยเพียงอย่างเดียว

นิสัยไม่ดีข้อ 5 : กินอัลกอฮอล์เพื่อระบายความเครียด
ถ้าคุณพ่อกลับบ้านมาด้วยความเครียดจากปัญหาที่ทำงาน แล้วพูดว่า "ขอกินเหล้าแก้กลุ้มหน่อยเถอะ" จะเป็นการแสดงให้ลูกรู้สึกว่า การกินเหล้าเป็นวิธีที่ดีในการแก้ไขปัญหาหนักอก และ ช่วยให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เช่นเดียวกับ การกินกาแฟเยอะๆ หรือ เครื่องดื่มชูกำลัง เพื่อเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าให้แก่ร่างกาย วิธีที่ถูกต้องในการระบายความเครียด หรือ เพิ่มพลังชาร์ทแบต คือ การออกกำลังกาย การทำโยคะ การทำสมาธิ หรือ งานอดิเรกที่ได้ทำร่วมกันกับคนในครอบครัว

นิสัยไม่ดีข้อ 6 : ทำทุกอย่างเป็นการแช่งขันชิงดีชิงเด่น
การบอกลูกว่า ดูเด็กข้างบ้าน เพื่อนในห้อง หรือ พี่น้องสิ เขาทำโน่นนี่ได้ ไม่ใช่วิธีสร้างแรงจูงใจที่ดีให้แก่ลูก แต่ควรใช้การสร้างแรงจูงใจทางบวก ให้ชมลูกเมื่อลูกพยายามทำอย่างดีที่สุดเท่าที่ลูกทำได้ ช่วยให้ลูกเห็นข้อดีของการได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านว่าสนุกเพียงใด ให้ลูกแข่งกับตัวเอง และ ดูว่ามีการพัฒนามากขึ้นอย่างไร คุณอาจช่วยลูกค้นหากิจกรรมที่ลูกชื่นชอบและช่วยฝึกฝน เล่าให้ลูกฟังว่าคุณเองก็ต้องออกกำลังกายเหมือนกันและทำให้คุณรู้สึกดีอย่างไร

นิสัยไม่ดีข้อ 7 : เป็นคนชอบโต้เถึยง หรือ ขัดแย้งกับผู้อื่นตลอดเวลา
ถ้าพ่อแม่โต้เถียงกันตลอดเวลา ลูกๆจะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ทั้งๆที่ความจริง คือ ยิ่งโต้เถียง ก็จะยิ่งมีปัญหามากขึ้น ดังนั้นคุณควรเรียนรู้วิธีหลีกเลี่ยงการโต้เถียง เพราะการโต้เถียงอาจทำให้คุณรู้สึกดีในเบื้องต้น แต่มักทำให้เหตุการณ์แย่ลงในภายหลัง และ ลูกที่อยู่ในครอบครัวที่มีการโต้เถียงกันตลอดเวลา จะมีความเครียดมากกว่าปกติ

นิสัยไม่ดีข้อ 8 : ขี้นินทา
การนินทาผู้อื่น ที่จริงแล้ว เป็นสัญลักษณ์ของคนที่เห็นคุณค่าของตนเองต่ำ รวมถึงการชอบบริโภคข่าวซุบซิบนินทาในหนังสือพิมพ์ ทีวี นิตยสารดารา ก็ควรงดให้หมดด้วย สู้เอาเวลาไปขี่จักรยาน หรือ เล่นตั้งเตดีกว่า

ถ้าคุณพบว่าที่ผ่านมา คุณแสดงนิสัยไม่ดีเหล่านี้ให้ลูกเห็น จงอย่าคิดว่าลูกไม่สังเกตเห็น ลูกเห็นแน่นอน แต่วิธีแก้ไข คือ ให้บอกลูกเลยค่ะ ว่าที่ผ่านมา พ่อแม่ทำสิ่งไม่ดีอะไรมาบ้าง แต่พ่อแม่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยอาจให้ลูกช่วยเตือน ลูกจะยินดีมากที่จะช่วยคุณพยายามหยุดนิสัยที่ไม่ดีเหล่านี้ การศึกษาพบว่า หากครอบครัวมีส่วนร่วมในการแก้ไขนิสัยไม่ดี หรือ ปลูกฝังนิสัยที่ดี กับคนในครอบครัว จะช่วยให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

From:https://www.facebook.com/photo.php?fbid=761764080516408&set=a.591395760886575.156913.591075960918555&type=1&theater

10 สารก่อภูมิแพ้ในบ้านที่คาดไม่ถึง

1. ต้นไม้ในบ้าน : มีสปอร์เชื้อราติดอยู่ตามกระถางต้นไม้และที่พื้นบริเวณที่วางต้นไม้ วิธีลดความเสี่ยง คือ กำจัดใบที่ตายแล้ว ใช้จานรองกระถางต้นไม้เพื่อไม่ให้ดินกระจายออกมานอกกระถางลงพื้นบ้าน และ หลีกเลี่ยงการรดน้ำต้นไม้จนชุ่มโชก

2. สัตว์เลี้ยง : ไม่เพียงแต่ผิวหนังหรือรังแคสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่น้ำลาย ปัสสาวะ และ อุจจาระของสัตว์เลี้ยง ซึ่งตกอยู่ตามพื้นพรม เฟอร์นิเจอร์ และ เตียงนอนล้วนมีสารโปรตีนซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้ทั้งสิ้น วิธีลดความเสี่ยง คือ ไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน หมั่นทำความสะอาดบ้านบ่อยๆเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้ตกค้างสะสมในบ้าน ล้างมือทุกครั้งหลังจากเล่นกับสัตว์เลี้ยง

3. พรม ผ้าเช็ดเท้า : เป็นแหล่งสะสมฝุ่น ไรฝุ่น วิธีลดความเสี่ยง คือ หมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ เอาพรมออกไป ติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องน้ำเพื่อถ่ายเทอากาศไม่ให้อับชื้น

4. หนังสือ : เป็นอาหารสมองสำหรับคุณ แต่ก็เป็นอาหารสำหรับไรฝุ่น ไรหนังสือด้วยเช่นกัน วิธีแก้ไข คือ หมั่นทำความสะอาด หรือ เก็บหนังสือในตู้ปิด และอย่าให้ห้องเก็บหนังสือชื้น เพราะจะทำให้มีเชื้อราเจริญเติบโตซึ่งเป็นอาหารของไรหนังสือ

5.เฟอร์นิเจอร์กำมะหยี่ หรือ ทำจากผ้า : จะมีตัวไร วิธีแก้ไข คือ หุ้มเฟอร์นิเจอร์ด้วยหนัง ไวนิล หรือ จ้างคนมากำจัดไรฝุ่นบ่อยๆ เฟอร์นิเจอร์ที่เก็บในห้องที่มีความชื้น เช่น ห้องใต้ดิน จะมีเชื้อรามากมาย ให้แก้ไขโดยหาเครื่องมือลดความชื้น

6.เตียงนอน : การอยู่บนเตียงวันละ 8 ชม. จะมีเซลผิวหนังตกหล่นอยู่บนเตียงนอน ซึ่งกลายเป็นอาหารของไรฝุ่น วิธีแก้ไข คือ ใช้ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน กันไรฝุ่นที่เส้นใยทอแน่นจนไรฝุ่นเล็ดลอดขึ้นมาบนเตียงไม่ได้ ซักผ้าปูเตียงด้วยน้ำร้อนทุกสัปดาห์ หลีกเลี่ยงการใช้หมอนที่ซักไม่ได้

7.ตุ๊กตานุ่มนิ่ม : ให้เลือกเพื่อนรักของลูกชนิดที่ซักในน้ำร้อนได้ทุกสัปดาห์ และ ต้องเป่าให้แห้งด้วยเพื่อไม่ให้มีเชื้อรา

8.ห้องน้ำ : เชื้อราชอบขึ้นที่กระเบื้องปูพื้นและผนังห้องน้ำ วิธีป้องกัน คือ ทำห้องน้ำให้แห้ง และ สะอาดอยู่เสมอ ซ่อมแซมจุดที่มีน้ำรั่วไหล ใช้พัดลมดูดอากาศเพื่อระบายความชื้น และ ทำความสะอาดพื้นห้องน้ำด้วยน้ำยาขจัดคราบ

9.ห้องครัว : เป็นสถานที่ที่เชื้อราชื่นชอบ เพราะ ชื้นแฉะ และ มีเศษอาหารซึ่งเป็นอาหารของเชื้อรา วิธีป้องกัน คือ ปิดถังขยะให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้าไปหาอาหารและเพาะพันธุ์ เพราะซากแมลงสาบก็เป็นสารก่อภูมิแพ้

10.เครื่องปรับอากาศ : เป็นที่สะสมของฝุ่น และ เชื้อรา วิธีป้องกัน คือ ใช้ที่กรองอากาศและทำความสะอาดเป็นประจำ

From: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=761757283850421&set=a.591395760886575.156913.591075960918555&type=1&theater

...เลี้ยงลูกท่าไหน ถึงผลักไสให้เขา กลายเป็น Generation ME...




» Gen ที่หลงตัวเองที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีข่าวที่ฮือฮามากในนิตยสาร “TIME” ที่ทำสกู๊ปหน้าปกเรื่อง “ME ME ME Generation” พร้อมภาพเด็กหญิงวัยสาวกำลังนอนราบกับพื้น และยกกล้องจากโทรศัพท์มือถือขึ้นโน้มลงมาถ่ายรูปหน้าตัวเอง ...

เนื้อหาเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ ที่อ้างข้อมูลของโจเอล สไตน์ จาก “The National Institutes of Health” (สถาบันสุขภาพแห่งชาติอเมริกา) พบว่า

คนรุ่นใหม่กว่า 80 ล้านคนในอเมริกาที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1980-2000 นั้นหลงตัวเองเป็นสามเท่าของคนรุ่นพ่อแม่ และกว่า 80% ของคนรุ่นนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปี ต้องการได้งานที่มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่

คนรุ่นใหม่นั้นได้รับการปลูกฝังเลี้ยงดูภายใต้วัฒนธรรม “แค่เข้าร่วมก็ได้ประกาศนียบัตร” โดยไม่สนใจถึงประสิทธิผล หรือวิธีการ หรือความสำคัญของการเข้าร่ว

ซึ่งทำให้พวกเขามักคิดว่า หากทำงาน พวกเขาควรได้รับการโปรโมตเลื่อนขั้นทุกๆ สองปีโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาที่ผลงาน หรือประสิทธิภาพ

และจากข้อมูลดังกล่าว เขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Generation ME หรือกลุ่มที่มองตัวเองสำคัญที่สุด มองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่าง หรืออีกคำที่เขาเรียกว่าเป็นกลุ่มหลงตัวเอง

คนที่มี “บุคลิกภาพหลงตัวเอง” สรุปคร่าวๆ มักจะมีอาการ และพฤติกรรม ดังนี้

1) ปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความโกรธแค้น สร้างความน่าละอาย/ขายหน้า และความอัปยศน่าอดสู

2) เอาเปรียบผู้อื่น เพื่อตอบสนองความต้องการชนะ หรือวัตถุประสงค์ของตนเอง

3) มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญมากเกินพอดี

4) พูดขยายเกินกว่าความเป็นจริงเกี่ยวกับความสำเร็จ หรือความสามารถของตนเอง

5) มีใจหมกมุ่นกับจินตนาการความสำเร็จ พลัง อำนาจ ความงาม สติปัญญา หรือรักในอุดมคติ

6) ใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล กับสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ หลงใหล คาดหวัง

7) ต้องการเป็นที่ชื่นชม ยอมรับ และหลงใหลอยู่ตลอดเวลา

เพิกเฉย ไม่เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของผู้อื่น และมีความพยายามเพียงน้อยนิดที่จะแสดงความเห็นใจผู้อื่

9) คิดหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์ และความต้องการของตนเอง

10) ไล่ตามเป้าหมายที่เห็นประโยชน์แก่ตนเอง

แม้จะมีความพยายามในการวิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ และส่วนสำคัญที่สุดก็คือ การเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนอย่างมาก

แล้วเด็กแบบไหนกันที่มีแนวโน้มถูกเลี้ยงดูให้กลายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ถูกเรียกว่า Generation ME !!

• ประการแรก : ลูกเป็นศูนย์กลางของบ้าน

ถ้าเปรียบเทียบกับการเลี้ยงดูของชาวจีนก็ประมาณว่าจักรพรรดิน้อย ที่พ่อแม่คอยพะเน้าพะนอ อยากได้อะไรก็ได้ ไม่ว่าจะกิน จะนอน จะเล่น จะเที่ยว จะให้ลูกเป็นผู้กำหนดตั้งแต่เล็ก ยกให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะรักลูกอยากตามใจลูก

โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังหล่อหลอมให้ลูกของเรากลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง และมองตัวเองสำคัญที่สุด ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่

• ประการที่สอง : ลูกไม่เคยผิดหวัง

สืบเนื่องมาจากการเป็นศูนย์กลางของบ้าน เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านไม่เคยขัด และตามใจมาโดยตลอด จึงมักตอบสนองในทุกเรื่อง แม้บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

เช่น การที่ลูกอยากได้ของเล่นของคนอื่น พ่อแม่ก็จะต้องพยายามหาทางให้ลูกได้ของเล่นชิ้นนั้น ไปขอยืมมา หรือไม่ก็ต้องดิ้นรนหาซื้อของเล่นชิ้นใหม่จนได้ เป็นต้น

• ประการที่สาม : ลูกไม่เคยแพ้

ในที่นี้เป็นเรื่องการแข่งขันที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก เป็นเด็กที่ต้องชนะ ไม่ว่าจเะเป็นการเล่นเกม หรือการเรียนก็ตาม

ยกตัวอย่าง พ่อแม่ที่เล่นกับลูก ถ้าเป็นเกมที่ต้องมีผู้แพ้ชนะ พ่อแม่มักยอมให้ลูกเป็นฝ่ายชนะตลอด เวลาลูกแพ้ ลูกมักร้องไห้ หรืออารมณ์เสีย

แทนที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกรู้จักการแพ้ชนะอย่างเป็นธรรมชาติ และถูกต้องตามกฎกติกา และให้เขาได้รู้จักการจัดการกับอารมณ์นั้น

แต่พ่อแม่มักอ้างว่ารักลูก กลัวว่าลูกเสียใจก็เลยยอมแพ้ลูกตลอด จนเมื่อลูกต้องไปมีสังคมของเขาเอง เมื่อเขาแพ้ก็จะรู้สึกทนไม่ได้ ไม่ชอบหน้าอีกฝ่าย หรือบางทีก็กลายเป็นโกรธผู้นั้นไปเลย

• ประการที่สี่ : ลูกไม่เคยลำบาก

ข้อนี้มักเกิดกับกลุ่มพ่อแม่ชนชั้นกลางขึ้นไป ที่ไม่อยากให้ลูกลำบาก ยิ่งถ้าเป็นพ่อแม่ที่เคยผ่านความลำบากมาแล้ว ก็เลยมีความคิดว่าไม่อยากให้ลูกลำบากอีกต่อไป

ซึ่งเป็นความคิด และความเข้าใจที่ผิด เพราะความลำบากจะทำให้ลูกมีภูมิต้านทานชีวิตที่ดี

• ประการที่ห้า : ลูกไม่เคยแก้ปัญหา

พ่อแม่จัดการแก้ปัญหาให้ลูกหมด เพราะคิดว่าลูกยังเด็ก ลูกคงแก้ปัญหาเองไม่ได้หรอก ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องเล็กๆ และเป็นเรื่องของเด็ก แต่พ่อแม่ก็ไม่ปล่อยวางให้ลูกได้ฝึกเจอสถานการณ์ด้วยตัวเอง

พ่อแม่เข้าไปแก้ปัญหา และจัดการให้หมด กลายเป็นจุ้นจ้านต่อชีวิตของลูกไปซะอีก เวลาลูกเจอปัญหาอะไรต้องให้เขาฝึกเผชิญด้วยตัวเอง มิเช่นนั้นแล้ว เขาก็จะมองเห็นแต่ตัวเอง

เมื่อเกิดอะไรขึ้นมา เขาจะมองไม่เห็นปัญหาของคนอื่น หรือโทษว่าเพราะคนอื่นทำให้ฉันเกิดปัญหา

• ประการที่หก : ลูกได้รับคำชื่นชม และชมเชยแบบพร่ำเพรื่อ

การชื่นชม หรือชมเชย หรือให้กำลังใจลูกเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องมีความพอดี และเหมาะสมกำกับอยู่ด้วย เพราะถ้าชื่นชมมากเกินไป พร่ำเพรื่อเกินไปก็กลายเป็นสร้างปัญหาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชื่นชมเพียงแค่เปลือก ชมที่ภายนอก

เช่น ชมว่าลูกแต่งตัวสวย หล่อ หรือหน้าตาดี แต่ไม่ได้ชมที่พฤติกรรมของการทำดี ก็จะทำให้ลูกหลง และถือดีว่าตัวเองหน้าตาดี และนำไปสู่อาการหลงตัวเองได

+ + ฝากทิ้งท้าย + +

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วมีส่วนทำให้ลูกของคุณเข้าข่ายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่คิดถึงตัวเอง หรือภาษาของคนชาวอเมริกันที่เขาบอกว่าเข้าข่ายหลงตัวเอ

จนถึงกับบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า “Generation ME” ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มักมองแต่ตัวเอง

จะว่าไปแล้วอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เกิดพฤติกรรมหลงตัวเองก็คือ “สื่อยุคไร้พรมแดน” เพราะสื่อ และเทคโนโลยีที่พุ่งเป้ามาที่ตัวเด็กโดยตรง

และมองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สุดแสนจะโอชะ เพราะใช้เงินง่าย ตกเข้าไปในกระแสทุนนิยมก็ง่าย ยิ่งบรรดาสมาร์ทโฟนที่เด็กรุ่นใหม่ใช้กันเกลื่อนเมือง ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มอย่างมากที่ก้าวเข้าสู่การเป็น Generation ME ได้ง่ายขึ้น

ตรงกันข้าม ถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และถูกวิธี มีการปลูกฝังทักษะชีวิตที่เหมาะสมกับวัย เมื่อถึงวันที่กระแสบริโภคนิยมเข้ามาปะทะตัวเด็กเต็มๆ มีสื่อไฮเทคเข้ามาถึงบ้าน แต่ทักษะชีวิตที่ได้รับการปลูกฝังมาดี

เมื่อถึงเวลานั้น ทักษะที่มี มันจะทำหน้าที่ป้องกันตัวเองได้เป็นอย่างดี

Credit : สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน / Quality of Life / Manager.co.th


From: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151830720864730&set=a.10150225487049730.334450.360925469729&type=1&theater