Sunday 24 November 2013

สร้างวินัยให้ลูกคุณ ขวบปีแรก

โดยส่วนตัว จะโกรธมากเมื่อได้ยินผู้ใหญ่บางคนพูดว่า เด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ปล่อยให้ทำไป ไม่เป็นไร เพราะตัวเองคิดอยู่เสมอว่า เด็กนี่แหละที่เราต้องสอน ต้องปลูกฝังในสิ่งที่เราอยากให้เค้าเป็น ความมีระเบียบวินัย จริยธรรม คุณธรรม แทรกไว้ในชีวิตประจำวันของลูก อย่าดูถูกการเรียนรู้และสมองของเด็กนะคะ เจ๋งกว่าผู้ใหญ่มากมายนัก

จากหนังสือ หนังสือชื่อ"สร้างวินัยให้ลูกคุณ" เขียนโดยศาสตราจารย์แพทย์หญิง อุมาพร ตรังคสมบัติ อ่านแล้วรู้สึกว่าเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากขึ้น เลยอยากนำมาฝาก แต่เนื้อหาค่อนข้างยาว จึงขอแบ่งเป็นตอนๆ ค่ะ ตอนละวันนะคะ

ตอนที่ 1 ขวบปีแรก
ตอนที่ 2 ขวบปีที่ 2-3
ตอนที่ 3 อายุ 3-5 ปี

========================

ขวบปีแรก
การฝึกวินัยในขวบปีแรกยังไม่ใช่เรื่องที่สำคัญมากเท่าในขวบปีที่ 2 และ 3 ทั้งนี้เพราะในขวบปีแรกเด็กยังไม่มีพฤติกรรมที่ต้องการการควบคุบจากผู้ใหญ่มากเท่าไร เด็กเพียงต้องการการดูแลเอาใจใส่ให้กินอิ่ม นอนหลับ และได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมเท่านั้น ต่อเมื่อเด็เริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้นในขวบปีที่ 2 การฝึกระเบียบวินัยจึงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูในขวบปีแรกอย่างเหมาะสม จะช่วยให้การฝึกวินัยในช่วงต่อมาเป็นไปได้อย่างราบรื่น ถ้าเด็กได้รับการดูแลด้วยความละเอียดอ่อนเพียงพอ มีการตอบสนองความต้องการทางสรีระของเด็กอย่างดีพอ เด็กจะพัฒนาความผูกพันใกล้ชิด (attachment) กับผู้เลี้ยงดู รวมทั้งพัฒนาความไว้วางใจพื้นฐาน (basic trust) ความผูกพันและความไว้วางใจนี้จะช่วยให้พัฒนาการทางจิตใจ อารมณ์และสังคม รวมทั้งสติปัญญาของเด็กดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ระเบียบวินัย รวมทั้งกฏเกณฑ์ของครอบครัวและสังคมได้ง่าย

พ่อแม่จำนวนมากกลัวว่า ถ้าให้ความสนใจลูกในขวบปีแรกมากเกินไปก็จะเป็นการทำให้เด็กเหลิงหรือเสียนิสัยเนื่องจากถูกตามใจมาก พ่อแม่กลัวว่าเด็กจะเรียกร้องความสนใจอย่างไม่สิ้นสุดและจะเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง พ่อแม่มักถามดิฉันว่า ถ้าลูกร้องแล้วต้องอุ้มหรือไม่ ถ้าร้องจะกินนมแล้วต้องให้ทันทีหรือไม่ ถ้าอุ้มทุกครั้งหรือรีบเอานมให้กินทุกครั้งโดยไม่หัดให้รอคอยบ้างจะเป็นการตามใจลูกเกินไปหรือไม่?

คำตอบก็คือ เด็กในขวบปีแรกยังไม่รู้จักช่วยตนเอง เด็กยังเคลื่อนไหวไม่ได้และสื่อภาษาไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเด็กร้องไห้ก็หมายความว่า เด็กต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการบางสิ่งบางอย่าง เช่น เด็กอาจหิว เปียกฉี่ ร้อน หรือปวดท้อง ลูกต้องการให้มีคนเข้ามาดูแลและช่วยบรรเทาความไม่สบายทั้งหลายที่เกิดขึ้น ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรรีบเข้าไปช่วย การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น และจะไม่ทำให้เกิดปัญหาถูกตามใจเกินไป คำว่า”รวดเร็ว” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องรีบร้อนวิ่งไปดูลูกจนสะดุดหกล้ม แต่หมายความว่า คุณต้องพยายามไปดูลูกโดยเร็ว ไม่ใช่เฉยเมยและปล่อยให้ลูกรอนานหรือร้องนานจนหมดแรง การปล่อยให้เด็กทารกร้องอยู่นานไม่ใช่สิ่งที่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อลูกโตขึ้น ลูกก็จะรอได้นานขึ้น ดังนั้นในช่วงปลายปีแรก คุณก็คงไม่ต้องรีบร้อนชงนมให้ลูกเท่ากับช่วง 2-3 เดือนแรก เพราะลูกสามารถเล่นกับของเล่นที่วางอยู่ข้างๆได้ ในขณะที่รอให้คุณชงนม

ในขวบปีแรกการตอบสนองเมื่อเด็กต้องการความสนใจและการดูแลช่วยเหลือแบบที่กล่าวมานี้ จะไม่ทำให้เด็กติดนิสัยหรือเอาแต่ใจตัว แต่เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น เช่นในขวบปีที่ 2 เป็นต้นไป คุณควรหัดให้ลูกเริ่มรู้จักรอคอยทีละเล็กทีละน้อย หากคุณวิตกกังวลมากไม่อยากให้ลูกร้องเลย และคอยทำให้ลูกหรือตอบสนองลูกเสียก่อนที่ลูกจะเรียกร้องหรือเกิดความต้องการใดๆ ก็อาจเป็นการทำให้เด็กไม่มีโอกาสพัฒนาการอดทนรอคอย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตและจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนเองได้

Credit: www.2pasa.com
ที่มาข้อความ Toddle Barn

No comments:

Post a Comment