Friday 14 February 2014

ลูกดื้อ ทำอย่างไรดี ใช้วิธีขู่ดีไหม

"ลูกชายวัย 2 ขวบครึ่ง มีปัญหาเรื่องพูดอะไรก็ไม่เชื่อ คุณแม่ห้ามอะไรไม่ค่อยฟัง ก็เลยต้องใช้วิธีการงัดสิ่งที่เขากลัวขึ้นมาขู่จึงจะยอมเชื่อ เช่น เดี๋ยวเรียกเสือมานะ เรียกหมามากัดนะ แต่คุณแม่ก็กังวลว่าจะเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม อยากถามคุณหมอว่าจะมีวิธีอะไรดีกว่านี้ในการห้ามปรามลูกไหมคะ"

การขู่เป็นวิธีที่ง่ายในการทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้บ้าง แต่จะไม่ได้ผลถาวร และ มีผลเสียตามมา เช่น

1.ลูกจะมีพัฒนาการด้านภาษาไม่ดี เพราะสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารกับลูก จะช่วยพัฒนากระบวนการทางความคิดให้กับลูก ถ้าการบอกเหตุและผลสอดคล้องกัน จะทำให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีกว่า พัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ก็จะดีตามไปด้วย เนื่องจากการที่ลูกได้เรียนรู้ว่าหากทำหรือไม่ทำแบบนี้ ผลที่เกิดตามมาจะเป็นอย่างไร จะช่วยให้ลูกเรียบเรียงความคิด และสื่อสารออกมาได้ดีกว่าการที่ได้รับข้อมูลแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น ถ้าลูกดื้อไม่ยอมกินข้าว แล้วคุณแม่บอกว่า จะเรียกเสือมากัด แทนที่จะพูดว่า ถ้าลูกไม่กิน ลูกก็จะหิว เพราะลูกก็จะไม่ได้กินอะไรอีก จนกว่าจะถึงมื้อต่อไป ลูกก็จะงงว่า ไม่กินข้าว แล้วเสือจะมากัดได้ยังไง เมื่อเหตุและผลไม่สอดคล้องกัน ลูกก็ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

2.ทำให้ลูกเป็นคนขี้กลัว วิตกกังวลได้ง่าย เช่น “ถ้าซน จะให้หมอฉีดยาเจ็บๆ” “ถ้าไม่ยอมนอน ผีจะมาจับตัวไป” เหล่านี้จะทำให้ลูกกลัวหมอแบบไม่มีเหตุผล หรือ ทำให้ลูกกลัวความมืด ไม่ยอมนอนยิ่งกว่าเดิม เพราะกลัวว่าผีจะมาจับตัวไปจริงๆ

3.ถ้าคำขู่นั้นไม่เป็นจริง ลูกก็ไม่เชื่อถือพ่อแม่ ไม่สนใจคำขู่อีกต่อไป

4.คำขู่อันตราย เช่น “ถ้าทำแบบนี้ จะไม่รักนะ” ห้ามใช้เด็ดขาด เพราะเป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจลูก ยิ่งใช้บ่อยๆ จะทำให้ลูกเชื่อว่าพ่อแม่ไม่รัก กลายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสุขก็จะยิ่งมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์มากขึ้น หรือ ดื้อมากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องการทดสอบว่า ที่จริงแล้วพ่อแม่ยังรักเขาอยู่หรือเปล่า

ต่อไปนี้ คือ วิธีการที่ใช้ได้ผลมากกว่า

1.พูดชมเชยเวลาลูกมีพฤติกรรมที่ดี เช่น "หนูน่ารักมากๆ เวลาที่หนูไม่ตะโกน” “ลูกเก่งมากที่กินผักวันนี้”

2.เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น การเข้าคิวซื้อกาเร็ตป๊อปคอร์น/คริสปี้ครีมไม่แซงคิว การผลัดกันไม่แย่งกันเวลาเจอของแบรนด์เนมลดราคา การรอคอยอย่างอดทนไม่โวยวายเวลาต้องรออะไรนานๆเช่นเวลารอตรวจที่รพ. เป็นต้น

3.บอกผลตามมาที่เป็นจริง ซึ่งอาจเป็นการให้รางวัล ทำสิ่งที่ลูกชอบ หรือ การงดของที่ลูกชอบ เช่น "ถ้าลูกไม่เก็บของเล่นให้เรียบร้อย แม่จะเก็บแล้วหนูจะไม่ได้เล่นอีก 3 วัน” “ถ้าลูกแบ่งของให้น้องเล่น วันนี้แม่จะอ่านนิทานให้ฟังเพิ่มขึ้นอีก 1 เรื่อง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้จริงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้พ่อแม่เป็นคนที่เชื่อถือได้ในคำพูด

4.ไม่พูดว่า “จะไม่รักลูก” ให้พูดว่า “แม่รักลูก แต่แม่เสียใจที่ลูกไม่เชื่อฟังแม่” “แม่รักลูก แต่แม่ไม่ชอบเวลาที่ลูกดื้อกับแม่” “แม่รักลูก แต่ถ้าลูกทำผิด แม่ก็ต้องลงโทษลูก"

ปล.1 ป๊อบคอร์น คริสปี้ครีม เป็นอาหารกลุ่มเสี่ยง มีเนยนมชีส กินแล้วแพ้ได้ และ อ้วนด้วยค่ะ หญิงตั้งครรภ์และคุณแม่ให้นมแม่ไม่ควรกิน และคุณพ่อก็ไม่ควรกินยั่วคุณแม่ด้วย เพื่อไม่ให้คุณแม่ตบะแตก

ปล.2 คุณแม่ให้นมแม่ สามารถซื้อของแบรนด์เนมดีๆได้บ้าง เพราะมีเงินเหลือจากค่านมผง และ ค่ารักษาพยาบาลเวลาลูกเจ็บป่วยปีละหลายหมื่นบาท

Credit: สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

No comments:

Post a Comment