Monday 6 January 2014

ปัญหาลูกน้อยขี้วีน

ความจริงเรื่องความโกรธ อารมณ์ร้าย ขี้โมโหก็เป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้จะเป็น แต่จะมากจะน้อยก็แล้วแต่พื้นอารมณ์ของเด็กและการเลี้ยงดู

เด็กวัยนี้อาจจะแสดงอารมณ์โกรธหรือโมโหได้ง่าย เพราะอยู่ในช่วงที่ชีวิตเปลี่ยนแปลง เช่น บางคนต้องไปโรงเรียนทั้งๆ ที่ยังไม่อยากไป หรือหนูบางคนอาจจะรู้สึกถูกละเลยจึงต้องเรียกร้องความสนใจด้วยการโกรธอยู่เสมอจนติดเป็นนิสัย ซึ่งถ้าเจออารมณ์ของลูกแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องมีวิธีรับมือ และช่วยลูกให้ค่อยๆ ปรับอารมณ์ เรียนรู้เรื่องอารมณ์ของตนเอง และรู้จักควบคุมอารมณ์ให้กลับมาเป็นปกติ

1) ไม่ควรนิ่งดูดายบนอารมณ์ร้ายของลูก

พ่อแม่บางคนเบื่อหน่ายลูกที่ขี้วีน พอลูกอาละวาดก็เลยใช้วิธีไม่สนใจทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งวิธีนี้ลูกจะแสดงอารมณ์โกรธบ่อยๆ จนเป็นนิสัย กลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ขี้หงุดหงิด และแก้ไขปัญหาด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลต่อไป

2) อย่าตำหนิลูกรุนแรงเวลาลูกแสดงอารมณ์โกรธ

การตำหนิทำให้หนูน้อยรู้สึกผิด ยิ่งรู้สึกผิดยิ่งกราดเกรี้ยว หงุดหงิดก็แย่อยู่แล้วและยังถูกดุว่าต่ออีก ลูกจะยิ่งรู้สึกไม่ดีและจะกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสุขภาพจิตเลย การที่ให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมานั้นเป็นการช่วยเด็กระบายความรู้สึกที่ไม่ดีออกมา ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า ไม่ผิดที่จะโมโห หรือ โกรธ แต่ลูกต้องแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสม ซึ่งพ่อแม่ต้องช่วยเหลือเด็กให้รู้จักวิธีแสดงออกที่เหมาะสม

ข้อแนะนำ : เวลาที่ลูกโกรธ แสดงว่าลูกรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ คุณพ่อคุณแม่ควรจะเป็นที่พึ่งพิงที่หนักแน่นมั่นคง กอดลูกไว้ และเมื่อลูกสงบจึงอธิบายถึงเหตุและผลให้ลูกฟังอย่างนุ่มนวล ด้วยวิธีที่ไม่ใช่การตำหนิดุด่า

3) อย่าแก้ปัญหาด้วยการตามใจเด็ก

ไม่ใช่จะตามใจทุกเรื่องจนลูกติดเป็นนิสัย เพราะลูกจะเรียนรู้ว่าต้องวีนจึงจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล

อันไหนไม่ได้ก็ต้องบอกลูกให้ชัดเจนว่าไม่ได้ ถึงหนูจะร้องไห้ แม่ก็ไม่สามารถให้ลูกได้ วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การให้สิ่งที่เขาต้องการเสมอไป

แต่ควรใช้วิธีงเบี่ยงเบนความสนใจ และสุดท้ายเมื่อลูกสงบจึงพูดคุยกับลูกถึงเรื่องที่ผ่านมาว่าทำไมจึงไม่ได้ และการที่ลูกอาละวาดแบบนี้ไม่ดียังไง ทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจอย่างไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะขัดใจไปทุกเรื่องนะคะ ให้ได้ก็ให้ ให้ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร ซึ่งหนูน้อยก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าเขาจะไม่ได้ในทุกสิ่งที่ตัวเองต้องการตลอดไป และการแสดงอารมณ์โกรธเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการก็ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาเสมอไป

4) เทคนิคสยบอารมณ์ร้ายของลูก

รับฟังลูกเสมอ เวลาโกรธ ใครๆ ก็อยากจะระบายออกมาว่าไม่พอใจอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรจะฟังลูกนะคะ ถึงแม้หนูจะตะโกนเสียงดังแค่ไหน ก็ต้องรับฟังเขาเสมอ

สัมผัสรักบรรเทาโกรธ กอดลูกไว้ ลูบหลังไหล่ จับมือลูกไว้ดีกว่าค่ะ การที่มีคนมาสัมผัสลูกจะรับรู้ถึงความอบอุ่นใจ และมั่นคงจากพ่อแม่ การที่ลูกอาละวาดนั่นเพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งหนูน้อยก็รู้สึกตกใจนะคะ ที่อารมณ์ของตัวเองอยู่เหนือการควบคุมอย่างนี้ การสัมผัสจะช่วยคลายอารมณ์ที่กำลังไม่มั่นคง และอยู่เหนือการควบคุมของลูกให้สงบลงได้

ระบายอารมณ์ด้วยศิลปะ ลองหาสี กระดาษให้เขาได้ระบาย วาดรูป หรือเขียนอะไรก็ได้ตามใจ บอกลูกว่าหนูโกรธอะไร หงุดหงิดเรื่องอะไร หรือว่าอยากได้อะไรลองวาดเป็นรูปให้คุณแม่ดูหน่อยสิ ให้แม่ได้รู้ว่าหนูอยากได้อะไร เสร็จแล้วก็เอารูปวาดนั้นมานั่งคุยกับลูก ว่าอันนี้คืออะไร ที่หนูวาดอย่างนี้ต้องการอะไร

การได้ระบายโดยการวาดออกมา และมีคุณแม่มาสนใจถามไถ่ เป็นการบำบัดอารมณ์อย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาชอบใช้กับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำมาใช้ กับการแก้ไขอารมณ์ร้ายของลูกได้ค่ะ

ให้เล่นอะไรที่ใช้แรงเยอะๆ หาของเล่นที่ต้องทุบๆ ตีๆ หรือบีบๆ ปั้นๆ เช่น กลองเด็กเล่น แป้งโด ดินน้ำมัน ให้ลูกได้เล่นแบบใช้แรงเยอะๆ สักพัก ถือเป็นการระบายออกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวเดียวแกก็จะลืมความหงุดหงิดอารมณ์ร้ายที่ออกฤทธิ์ไว้อย่างแน่นอน

ให้อยู่ในที่โล่งๆ ถ้าลูกอาละวาดไม่ควรจะจับขังในห้องแคบๆ เหมือนที่ในหนังชอบทำนะคะ เพราะจะทำร้ายจิตใจหนูมาก และที่แคบๆ จะไม่ช่วยให้อารมณ์ลูกผ่อนคลายลงได้เลย แต่ควรหาที่โล่งๆ เช่น พาออกไปที่สนามหน้าบ้าน ที่โล่งๆ จะช่วยให้อารมณ์ของหนูผ่อนคลายได้มากกว่าค่ะ

สงบสยบโกรธ ถ้าทำทุกอย่างแล้วหนูก็ยังไม่หยุดอาละวาด คุณพ่อคุณแม่ควรจะนิ่งสักพัก ปล่อยให้อารมณ์ของลูกลดลงเอง แต่อย่าไปอาละวาดกลับนะคะ เพราะยิ่งจะเหมือนเอาน้ำมันราดลงไปบนกองไฟ

Tips

คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกนะคะ ไม่ควรจะแสดงอารมณ์กราดเกรี้ยวใส่กันในครอบครัว ไม่ควรโกรธหัวเสียใส่ลูกเวลาที่ลูกวีน หรือเวลาอารมณ์เสียแล้วมาลงที่ลูก เพราะหนูน้อยมองดูอยู่ และกำลังเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ทุกขณะจิตค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารดวงใจพ่อแม่
www.kapook.com

Credit: การดูแลเด็ก ปฐมวัย

No comments:

Post a Comment